โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบกใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
กรกฎาคม 27, 2015 | เปิดอ่าน 704 | คอมเม้น 0
ณ อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์
เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร มหาราชถึงอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ ขณะที่ในวันนี้ (27 ก.ค.) ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานในพิธีบวงสรวงและอัญเชิญองค์สมเด็จพระบูรพ กษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นประดิษฐานบนแท่นประทับ
โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบกใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทโดยกองทัพบกระดมทุนจากเงินบริจาคทั้งหมด กองทัพบกระบุว่าอุทยานแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระ มหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กองทัพบกเริ่มดำเนินการเคลื่อนย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ แล้ว ขณะนี้พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงและพระนเรศวรถึงอุทยานฯ แล้ว ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนารายณ์เกิดการแตกร้าวระหว่างขนย้ายจึง ต้องนำกลับไปซ่อมที่โรงหล่อลพบุรี
วันนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. จะเป็นประธานในพิธีบวงสรวงและอัญเชิญองค์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นประดิษฐานบนแท่นประทับในเวลา 08.39 น. โดยสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร ได้กำหนดตำแหน่งที่ประดิษฐาน ให้สายพระเนตรมองไปยังศูนย์กลางของ อุทยานราชภักดิ์ในระยะ 250 เมตร
นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสืบหมู่กล่าวว่า พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของช่างฝีมือดี ของประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมศิลปากร และสำนักช่างสิบหมู่ เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
อุทยานราชภักดิ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ 222 ไร่เศษ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก มีโครงสร้างหลักที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ โดยพิจารณาเลือกพระมหากษัตรย์แต่ละยุคสมัยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชึ่งพระนามแต่ละพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รูปแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ จะจัดสร้างในลักษณะพระอิริยาบถทรงยืน ความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 13.9 เมตร หล่อด้วยโลหะสำริดนอก
ส่วนที่ 2 เป็นลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ประมาณ 91 ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพและรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ และส่วนที่ 3 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์-ห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ ใช้เวลาการก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557-สิงหาคม 2558 รวมระยะเวลา 10 เดือน
———————————————————-
ขอขอบคุณแหล่งข่าว
ข้อมูล : กองบัญชาการกองทัพบก / Sanook.com
ภาพถ่าย : ข่าวข้น รับอรุณ
——————————————————
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้าง
"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า "อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ๗ พระองค์ ได้แก่
๑.พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
๒.สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
๓.สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
๔.สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
๕.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
๖.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
๗.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ
No comments:
Post a Comment