PPD's Official Website

Showing posts with label สุพจน์ ด่านตระกูล. Show all posts
Showing posts with label สุพจน์ ด่านตระกูล. Show all posts

Sunday, June 21, 2015

การปฏิวัติไม่มีสูตรสำเร็จ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล

การปฏิวัติไม่มีสูตรสำเร็จ

ทฤษฎี กับ การปฏิบัติ

คำ นี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันในหมู่นักปฏิวัติสังคมนิยมสามกลุ่ม คือพวกหนึ่งหนักไปในทางทฤษฎียึดถือทฤษฎีเสมือนคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะละเมิดมิได้ และแปลนัยยะของทฤษฎีออกเป็นการปฏิบัติชนิดที่เรียกว่า “กอดเสาหิน” คือเกาะแน่นอยู่กับตำรา ยึดถือตำราเป็นคัมภีร์ตายตัว ไม่คำนึงถึงเงื่อนไขและภาวะแวดล้อมที่เป็นจริงซึ่งกำลังเป็นอยู่ อย่ากรณีของหลีลีซาน นักปฏิวัติของจีน เป็นต้น ซึ่งเคยมีทรรศนะว่าการปฏิวัติของจีนจะต้องปฏิวัติจากในเมืองออกสู่ชนบท ทั้งนี้ก็เป็นการดำเนินรอยตามโซเวียตรุสเซีย ซึ่งหลีลีซานเคยไปศึกษามา จากทรรศนะของหลีลีซานครั้งนั้นทำให้กรรมกรที่ลุกขึ้นก่อการในเมืองต้องถูก กวาดล้างทำลายชีวิตนับจำนวนเป็นพัน และตัวหลีลีซานเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด ความผิดพลาดของหลีลีซานครั้งนั้น เป็นเพราะเขายึดทฤษฎีเป็นคัมภีร์ตายตัวโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขและสภาพความ เป็นจริงของประเทศจีนในขณะนั้น พฤติการณ์เช่นนี้เราเรียกว่า พวกทฤษฎีนิยม

อีก พวกหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับพวกทฤษฎีนิยม คือพวกปฏิบัติ พวกนี้ไม่ค่อยคำนึงถึงทฤษฎี หากถือเอาความจัดเจนและประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และก็ดำเนินการปฏิวัติอย่างทีเรียกว่า หัวชนกำแพง คือดื้อรั้นมุทะลุ ปฏิบัติการไปอย่างผิดๆ ถูกๆ โดยห่างเหินทฤษฎี จนในที่สุดบางทีพวกนี้ ถ้ารั้งไม่อยู่ก็กลายเป็นพวก “แหกคอก” ไปเลย ลักษณะของการห่างเหินทฤษฎีเช่นนี้ มักจะเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปฏิบัติที่เคยประสบความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ มาในอดีต และก็ทรนงหลงระเริงในผลงานอันนั้น หรือไม่ก็เป็นพวกที่ใฝ่ในความเป็นวีรบุรุษที่เรียกว่าวีระบุรุษเอกชน พวกนี้เรียกว่า “พวกปฏิบัตินิยม”

ส่วนอีกพวกหนึ่งนั้นไม่เห็นด้วยกับ คนทั้งสองพวกแรก คือไม่ว่าจะเป็นพวกทฤษฎีนิยมหรือพวกปฏิบัตินิยม พวกนี้ถือว่าทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจะต้องประสานกัน มีแต่ทฤษฎีที่ไม่คำนึงถึงสภาวะการณ์ หรือมีแต่การปฏิบัติหากไร้ทฤษฎีก็จะไม่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จลุล่วงไปได้เลย

จริง อยู่ การปฏิบัตินำมาซึ่งทฤษฎี แต่กว่าจะได้ทฤษฎีที่ถูกต้องมาก็ต้องผ่านการปฏิบัติที่ผิดพลาดมาแล้วมาก ครั้งหลายหน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์สังคม และบางครั้ง ทฤษฎีที่ถือว่าถูกต้องที่สุดในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งนั้น กลายเป็นทฤษฎีที่ไม่ถูกต้องในอีกยุคหนึ่งสมัยหนึ่งไปเสียก็มี

นัก ปฏิวัติที่มุ่งหน้าแต่ปฏิบัติอย่างเดียวโดยไม่เหลียวแลทฤษฎี ก็เหมือนกับนักเดินเรือสมุทรที่ละทิ้งเข็มทิศ นักเดินเรือสมุทรที่ละทิ้งเข็มทิศย่อมเสี่ยงต่ออันตรายและความวิบัติฉันใด นักปฏิวัติที่ละทิ้งทฤษฎีก็เสี่ยงต่ออันตรายและความวิบัติฉันนั้น

และ ในทำนองเดียวกัน เงื่อนไขและภาวะแวดล้อมของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคที่ไม่เหมือนกัน จะถือทฤษฎีตายตัวมาดำเนินการปฏิวัติอย่างแบบฉบับเป็นสูตรสำเร็จอย่าง เดียวกันนั้นหาเป็นการถูกต้องไม่ และก็จะไม่สามารถนำการปฏิวัติไปสู่ความสำเร็จได้

เคล็ดลับของความ สำเร็จในการปฏิวัติ ก็คือต้องนำเอาทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และปรับทฤษฎีให้เข้ากับเงื่อนไขทางภาววิสัย เช่นเดียวกันกับการใช้กล้องส่องทางไกล จะต้องรู้จักปรับระยะให้เหมาะสมกับเป้าหมายใกล้ไกล

ดังเช่นการ ปฏิวัติของรัสเซียกับจีน ซึ่งเป็นการปฏิวัติเพื่อเข้าสู่ระบบสังคมนิยมเช่นกัน แต่ว่าลักษณะในการปฏิวัติแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขทางภาววิสัยของรัสเซียกับจีนแตกต่างกัน รัสเซียในสมัยนั้นพวกจักรวรรดินิยมทหารภายในประเทศ หรือพวกกฎุมพีและพวกศักดินา เป็นชนชั้นปกครอง ดังนั้นการปฏิวัติของรัสเซียภายใต้การนำของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีทางจะประสานกันได้กับพวกกฎุมพีและศักดินา และนอกจากจะไม่มีทางประสานกันได้แล้ว พวกกฎุมพีและศักดินาเหล่านั้นยังอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกทำลายอีกด้วย

ส่วน ประเทศจีนจักรพรรดินิยมและนายทุนต่างประเทศได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือชนชั้น ปกครอง ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ดังนั้น การปฏิวัติของจีนจึงได้รับความร่วมมือจากพวกที่เป็นศัตรูกับจักรพรรดินิยม ต่างประเทศทุกๆ ฝ่าย และในจำพวกนี้ก็มีพวกกฎุมพีรวมอยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ การปฏิวัตินั้นก็โดยการนำของชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้น เมื่อทำลายสมุนของจักรพรรดินิยมลงไปได้แล้ว การปกครองของประเทศจีนจึงมาอยู่ในกำมือของแนวร่วมประชาชนผู้รักชาติ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำและพรรคประชาธิปไตยอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับรัสเซียที่เมื่อการปฏิวัติสำเร็จลงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์แต่ เพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่เข้าปกครองประเทศ และระยะการปฏิวัติทางการเมืองของจีนกับรัสเซียก็ยังแตกต่างกัน คือจีนแบ่งการปฏิวัติเป็นสองระยะ ระยะแรกคือการเข้าสู่ประชาธิปไตยแผนใหม่ และระยะที่สองจึงจะเข้าสู่ระบบสังคมนิยม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นไปตามเงือนไขทางภาววิสัยของแต่ละประเทศนั้นเอง

จากตัวอย่างที่ ยกมากล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีไมใช่คัมภีร์ตายตัวที่จะแตะต้องไม่ได้ และการปฏิวัติไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มีทฤษฎีที่ถูกต้องเป็นเข็มทิศชี้นำเท่านั้นจึงจะบรรลุชัยชนะได้.
จากหนังสือ "ปทานานุกรม การเมือง ฉบับชาวบ้าน" สุพจน์ ด่านตระกูล