PPD's Official Website

Saturday, April 18, 2015

ร่างรัฐธรรมนูญโจรกบฎของระบอบราชาธิปไตย 2558 ที่ท่านควรอ่านเพื่อศึกษา (เราไม่ยอมรับ)




ร่าง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บททั่วไป
------------------
มาตรา ๑  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
มาตรา ๒  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา ๓  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
มาตรา ๔  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๕  ปวงชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
มาตรา ๖  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ
ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา ๗  เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ชี้ขาดเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ก็ได้  แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีและเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

ภาค ๑
พระมหากษัตริย์และประชาชน
------------
หมวด ๑
พระมหากษัตริย์
------------
มาตรา ๘  องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
มาตรา ๙  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
มาตรา ๑๐  พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา ๑๑  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา ๑๒  พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๓  การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตาม
พระราชอัธยาศัย
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๔  องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ใน
พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใด ๆ
มาตรา ๑๕  ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
  “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา ๑๖  องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๗  การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง
ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา ๑๘  เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็น
ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๙  ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ  เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการ
ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๒๐  ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่
ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้  ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
มาตรา ๒๑  ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และ
ปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”


ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรานี้
มาตรา ๒๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓  การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็น
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ  เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำ
ร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย  เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง
มาตรา ๒๓  ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้ง
พระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว
ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ
และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธาน
รัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้
ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ  ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้  เมื่อรัฐสภา
ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง
มาตรา ๒๔  ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์
ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๒๓ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน  แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ไว้ตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป  ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตามวรรคหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือทำหน้าที่
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐ วรรคสาม มาใช้บังคับ
มาตรา ๒๕  ในกรณีที่คณะองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือประธานองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือมาตรา ๒๔ วรรคสอง และอยู่ในระหว่างที่ไม่มีประธานองคมนตรีหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะองคมนตรีที่เหลืออยู่เลือกองคมนตรีคนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประธานองคมนตรี หรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แล้วแต่กรณี









หมวด ๒
ประชาชน
------------
ส่วนที่ ๑
ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง
------------
มาตรา ๒๖  ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง
พลเมืองต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตนเอง
พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุ
ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
รัฐมีหน้าที่ต้องปลูกฝังให้พลเมืองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีค่านิยมประชาธิปไตย ตลอดจนจัดให้มีการศึกษาอบรมในทุกระดับ ทุกประเภท และทุกกลุ่มอายุ เพื่อสร้าง
ความเป็นพลเมืองตามมาตรานี้
มาตรา ๒๗  พลเมืองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้
(๒) ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
(๓) เสียภาษีอากรโดยสุจริต
(๔) ใช้สิทธิทางการเมืองโดยสุจริตและมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม
(๕) ช่วยเหลือราชการ ช่วยเหลือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ รับการศึกษาอบรม  ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต  ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ  รวมทั้ง
สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรา ๒๘  พลเมืองซึ่งเข้าไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้บุคคลทำหน้าที่พลเมือง ย่อมปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งมีเกียรติอย่างเข้มแข็ง โดยปราศจากอคติและด้วยความเสียสละ และให้ได้รับค่าใช้จ่ายบางประการที่จำเป็น
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนที่ ๒
สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
------------
ตอนที่ ๑
บททั่วไป
------------
มาตรา ๒๙  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ โดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และ
การตีความกฎหมายทั้งปวง
การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๐  สิทธิของบุคคลที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐและหน่วยงานของรัฐ
ในการดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล  แต่การดำเนินการดังกล่าว ให้รัฐดำเนินการเพิ่มขึ้นตามความสามารถ
ทางการคลังของรัฐ
มาตรา ๓๑  บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ
ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้  ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและ
สั่งการอื่นได้  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของ
ศาลรัฐธรรมนูญ  แต่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
มาตรา ๓๒  บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด และย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ
ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง
ในกรณีที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ
ที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่หาก
เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิหรือเสรีภาพให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายดังกล่าว บุคคลก็ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง
การตรากฎหมายเพื่อกำหนดการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามวรรคสาม จะกระทบต่อขอบเขต
แห่งสิทธิหรือเสรีภาพ หรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรตามหลักความได้สัดส่วน มิได้
รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และช่วยเหลือให้การใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นไปอย่างเหมาะสม
มาตรา ๓๓  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้  เว้นแต่
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และ
จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น มิได้
กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด
กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ
ในการตรากฎหมายนั้นด้วย
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
แห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม
ตอนที่ ๒
สิทธิมนุษยชน
------------
มาตรา ๓๔  บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
มาตรา ๓๕  บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป  เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

มาตรา ๓๖  บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้
แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม
การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้  เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้
เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๓๗  บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด  และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด
แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด มิได้
บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้ถูกบังคับให้ให้ถ้อยคำซึ่งอาจทำให้ตนเองต้องรับผิดทางอาญา
มาตรา ๓๘  สิทธิของบุคคลในการสมรสและในครอบครัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง  การจำกัดสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะหรือในกรณีที่เป็นบุคคลสาธารณะ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนตามที่กฎหมายบัญญัติ  การแสวงประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลโดยผ่านระบบต่างๆ จะกระทำได้เฉพาะเพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๓๙  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน และย่อมได้รับความคุ้มครองในการอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข
การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถาน
หรือในที่รโหฐาน จะกระทำมิได้  เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔๐  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  มาตรา ๔๑  บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการ
รอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา
หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
มาตรา ๔๒  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
มาตรา ๔๓  สิทธิในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง  แต่การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย  ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง  สิทธิในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกิจการของรัฐเพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น  โดยในกฎหมายนั้นต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง  รวมทั้งต้องมีการชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น  และในการกำหนดค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน และประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการ
ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนและส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืน  ในกรณีที่มิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔๔  บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
(๒) สิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวดเร็ว
เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่ชัดเจน  โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ  ผู้ยากไร้
และผู้ด้อยโอกาส ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม
(๓) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับ
การพิจารณาโดยเปิดเผย โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับ
การพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งนั่งพิจารณาครบองค์คณะ และการคัดหรือทำสำเนาคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งอันเป็นการชี้ขาดคดี
 (๔) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย และพยานในคดี ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ หรือสถานะใด ย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม
(๕) ในคดีอาญา ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยาน มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือ
ที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ  ได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่ชัดเจน  ผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ  การได้รับ
การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักเว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ และรับทราบเหตุผลประกอบการสั่งฟ้องหรือ
ไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
(๖) ได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
มาตรา ๔๕  บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้

ตอนที่ ๓
สิทธิพลเมือง
------------
มาตรา ๔๖  ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและเป็นสุข และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มารดาย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับสวัสดิการตามควรจากรัฐและนายจ้าง
ก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตร  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
เด็กและเยาวชนย่อมมีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา
ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  รวมทั้งได้รับความคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ใดๆ ที่เป็นภัย
ต่อจิตใจหรือสุขภาพหรือขัดขวางพัฒนาการตามปกติของเด็กและเยาวชน  ทั้งนี้ โดยให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้ปราศจาก
การใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว
การจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะและความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน หรือเพื่อประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น
เด็ก เยาวชน สตรี บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคล
ซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือ
ที่เหมาะสมจากรัฐ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔๗  พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
การถอนสัญชาติไทยจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้  สัญชาติไทยจะสิ้นสุดลงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และจะขัดต่อเจตจำนงของพลเมืองนั้นได้ต่อเมื่อไม่ทำให้พลเมืองนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ
การเนรเทศผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้
มาตรา ๔๘  เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ย่อม
ได้รับความคุ้มครอง
การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ  เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน จะกระทำมิได้
เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม  และจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสาม
เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง  และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือ
ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้น
การได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน มิได้  ไม่ว่าในนาม
ของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่น ไม่ว่าโดยทางตรง
หรือทางอ้อม ที่จะทำให้สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น
ในกิจการดังกล่าว
รัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชน มิได้  การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น


มาตรา ๔๙  พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ย่อม
มีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง
การกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ  เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค  เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา ๔๘ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา ๔๘ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๕๐  คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์การของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมและกิจการสารสนเทศ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น  รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ  ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายบัญญัติ
การดำเนินการตามวรรคสองต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  และการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการที่ทั่วถึง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ และให้ประชาชนโดยทั่วไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด มากกว่าการมุ่งหารายได้เข้ารัฐหรือเข้าองค์กรดังกล่าว
เจ้าของกิจการตามมาตรานี้ต้องเป็นพลเมือง และต้องไม่ดำเนินการในลักษณะที่อาจมีผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ ด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๑  เสรีภาพในทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง
การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
 การวิเคราะห์หรือวิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาล และการเผยแพร่การวิเคราะห์หรือวิจารณ์ดังกล่าวที่ได้กระทำโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๕๒  พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง เพื่อการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ความถนัด และศักยภาพของแต่ละบุคคล  ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง
และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาอบรมและส่งเสริมการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือก และการศึกษาประเภทอื่น
ที่หลากหลาย  ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีศีลธรรม มีการพัฒนาจิตใจ และปัญญา
มาตรา ๕๓  พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
มาตรา ๕๔  พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน  แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ
มาตรา ๕๕  พลเมืองย่อมมีสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้ง
พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของพลเมือง และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๕๖  พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ อาชีพ หรือวิชาชีพ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดเกินความจำเป็น การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความ
ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ตามคำพิพากษา
หรือคำสั่งของศาลเพื่อประโยชน์ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิด
มาตรา ๕๗  พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพ และสวัสดิการในการทำงาน ที่เหมาะสมและเป็นธรรม  รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิตทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๘  พลเมืองย่อมมีสิทธิในด้านสาธารณสุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี
(๒) รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์
ด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน
(๓) ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องและทันสมัยจากรัฐ
พลเมืองซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ย่อมได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมจากรัฐ
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๙  พลเมืองย่อมมีสิทธิเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณะของรัฐที่จัดให้อย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
มาตรา ๖๐  สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค  รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค  และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ  ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การดังกล่าวด้วย
มาตรา ๖๑  พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของรัฐ  เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๖๒  พลเมืองย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน  รวมทั้งได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันรวดเร็ว
พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชน และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแผนอื่น  การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการตรากฎหมายหรือการออกกฎ
ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน  ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการเพื่อนำความคิดเห็นนั้นไปประกอบการพิจารณา โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย
มาตรา ๖๓  ชุมชนย่อมมีสิทธิปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันดีงามของชุมชน ท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
พลเมืองย่อมมีสิทธิร่วมกับชุมชนหรือร่วมกับรัฐในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ตลอดจนพัฒนา
ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
มาตรา ๖๔  สิทธิของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้  เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยบุคคลซึ่งมิได้มีส่วนได้เสีย และในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อม
ในระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน  รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของพลเมืองและชุมชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามมาตรานี้ที่จะฟ้องรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง


ส่วนที่ ๓
การมีส่วนร่วมทางการเมือง
------------
มาตรา ๖๕  พลเมืองย่อมมีสิทธิรับรู้และแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น  รวมทั้งการพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ และโครงการหรือกิจกรรมบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่โดยปกติสุข คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ หรือการอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในแต่ละเรื่อง มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง
วิธีดำเนินการเพื่อให้พลเมืองได้ใช้สิทธิตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๖๖  พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนย่อมมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามภาค ๑ หมวด ๒ ส่วนที่ ๒ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล  และภาค ๒ หมวด ๒ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ต่อรัฐสภา  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของพลเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
มาตรา ๖๗  พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการออกเสียงประชามติในการ
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่มีประกาศพระบรมราชโองการให้มีการออกเสียงประชามติเนื่องจาก
เป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของชาติหรือประชาชน หรือในกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ
ให้มีการออกเสียงประชามติ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติตามวรรคหนึ่งอาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของ
ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษา
แก่คณะรัฐมนตรีก็ได้  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ
และการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
จะกระทำมิได้  เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๘  พลเมืองย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้




ส่วนที่ ๔
การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
------------
มาตรา ๖๙  หน่วยงานของรัฐ องค์การภาคเอกชน  องค์การเอกชน หรือองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดย
ใช้เงินแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้พลเมืองได้ติดตามและตรวจสอบ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  เว้นแต่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผย
มาตรา ๗๐  เพื่อประโยชน์แห่งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พลเมืองย่อม
มีสิทธิร้องขอข้อมูลรวมทั้งติดตามและตรวจสอบ ในเรื่องดังต่อไปนี้  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๑) การดำเนินงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๒) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรือการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(๓) การรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในทุกระดับ
(๔) การใช้จ่ายเงินของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะมีส่วนร่วมในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ โดยร้องขอให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ควบคุม กำกับ หรือรับจดแจ้งหรือจดทะเบียน
นิติบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการ
การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ ถ้าข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
พลเมืองและสื่อมวลชนซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการ
ใช้อำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือต่อสาธารณะ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
ผู้ซึ่งใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งโดยไม่สุจริต ย่อมต้องมีความรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๗๑  เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองในแต่ละจังหวัดมีส่วนร่วมโดยตรงในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในเขตจังหวัดของตน รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต  ให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัดประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินห้าสิบคนซึ่งต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น  และมีที่มา
จากผู้แทนสมัชชาพลเมืองจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ ผู้แทนองค์การเอกชนจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ และสมาชิกส่วนที่เหลือมาจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
 คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการได้มาซึ่งสมาชิก การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิก วิธีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หน่วยธุรการของสภาตรวจสอบภาคพลเมือง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
สภาตรวจสอบภาคพลเมืองมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดของตนในการตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่
ในเขตจังหวัดนั้น โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๒) การกระทำของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
(๓) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรือการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(๔) การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน
(๕) การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือการละเมิดจริยธรรม
มาตรา ๗๒  พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น หรือตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิ
ในการดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๒๕๓  โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้คำร้องขอต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจนด้วย
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ภาค ๒
ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี
------------
หมวด ๑
ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี
------------
มาตรา ๗๓  ผู้นำการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้อาสามาปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ ย่อมต้องเป็นพลเมืองที่ดี มีความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ต่อประเทศชาติและประชาชน  ดำรงตนเป็นแบบอย่างอันดีงามของสังคม  ยึดมั่นในจริยธรรมและธรรมาภิบาล  จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรับใช้ประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ  โดยผู้นำการเมืองดังกล่าวได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกประเภทและทุกระดับ
(๒) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทุกตำแหน่ง
ผู้นำอื่นในภาครัฐย่อมต้องปฏิบัติตนเช่นเดียวกับผู้นำการเมืองตามวรรคหนึ่งด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๗๔  มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกำหนดขึ้นหรือให้ความเห็นชอบ โดยจะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป  ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติหรือผู้ที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมอบหมายไต่สวนการฝ่าฝืนหรือ
ไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวโดยเร็ว  และให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี  หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และแจ้งให้สมัชชาพลเมืองทราบด้วย  ในกรณีที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเห็นสมควรเปิดเผยผลการไต่สวนดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อป้องปรามมิให้มีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมต่อไป
ก็ให้เปิดเผยผลการไต่สวนดังกล่าวได้
เมื่อได้รับรายงานจากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  ให้องค์กรตามวรรคสองพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องสอบสวนหรือไต่สวนอีก แล้วแจ้งผลให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติทราบตามระยะเวลา
ที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกำหนด  และให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเปิดเผยผลการดำเนินการดังกล่าวให้ทราบ
เป็นการทั่วไป
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ย่อมเป็นเหตุแห่งการถอดถอนหรือการตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๓ โดยให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว  ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงดังกล่าวเป็น
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาถอดถอนต่อไปตามมาตรา ๒๕๓  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนตามวรรคสี่ในการเลือกตั้งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปซึ่งจะจัดขึ้นในคราวต่อไป โดยในกรณีที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หรือรัฐมนตรีให้ออกเสียงลงคะแนนในทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ  แต่ในกรณีที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ออกเสียงลงคะแนนในภาคที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ แล้วแต่กรณี  แล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่มีคะแนนเสียงข้างมากให้ถอดถอนผู้ใด ให้ถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งและให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันลงคะแนนเสียง
(๒) ในกรณีที่มีการออกเสียงลงคะแนนเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ถ้ามีคะแนนเสียงข้างมากให้
ถอดถอนผู้ใด ให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันลงคะแนนเสียง
การลงคะแนนเสียงตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน
หรือให้ตัดสิทธิผู้นั้นทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น โดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การรับสมัครเลือกตั้ง การเลือก การสรรหา การกลั่นกรอง การพิจารณา หรือการแต่งตั้งบุคคลใด
เข้าสู่ตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าตำแหน่งใด รวมทั้งการย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน หรือการ
ลงโทษบุคคลใด  ต้องใช้พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้นมาเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาด้วย
ให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรมของประชาชนและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะและอำนาจหน้าที่อื่น
องค์ประกอบ การได้มา อำนาจหน้าที่ วิธีไต่สวนและการพิจารณาของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ
มาตรา ๗๕  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐอย่างน้อยต้องปฏิบัติตนดังนี้
(๑) แยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่ และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเหนือประโยชน์ส่วนตนและของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัด
(๒) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และในการตรวจสอบทุกระดับ และนำความเห็นของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจ
(๓) แสดงความคิดเห็น อภิปราย หรือให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และ
ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
 (๔) แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเมื่อตนหรือผู้อยู่ในความรับผิดชอบของตนกระทำผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน
(๕) เมื่อพบว่ามีการกระทำซึ่งมีลักษณะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือประมวลจริยธรรม ต้องคัดค้านการกระทำดังกล่าว และแจ้งให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐอย่างน้อยต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัด หรือกระทำการอื่นอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ว่าการนั้นจะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่
(๒) ละเมิดหลักสำคัญทางศีลธรรม ศาสนา และประเพณี
(๓) ใช้วาจาไม่สุภาพ หรือกระทำการที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
(๔) ยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดครอบงำหรือชี้นำโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรม
(๕) ใช้อำนาจหน้าที่ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
(๖) เลี่ยงหรือชี้นำให้บุคคลอื่นเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งแสดงความเห็นทำนองดังกล่าวต่อสาธารณะ
มาตรา ๗๖  พรรคการเมืองต้องจัดองค์กรภายใน ดำเนินกิจการ และออกข้อบังคับ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ขัดต่อสถานะ
และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับพรรคการเมือง ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน และต้องส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง โดยให้นำความในมาตรา ๗๕ มาใช้บังคับกับการวางตนของกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วยโดยอนุโลม
การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีการหยั่งเสียงประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาค และต้องมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองบัญญัติ
การรับบริจาค การใช้จ่ายเงินในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมือง ย่อมอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกระทำตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
การมีมติของพรรคการเมืองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติใด ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำได้
ก็แต่โดยที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสังกัดพรรคการเมืองมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดผู้หนึ่ง หรือสมาชิกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน หรือพลเมืองไม่น้อยกว่า
ห้าพันคน เห็นว่าการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับพรรคการเมือง หรือมติใดไม่เป็นไปตามมาตรา
นี้ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ปรับปรุงแก้ไขการนั้นให้เป็นไปตามมาตรานี้ได้  ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ร้องขอ ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับพรรคการเมือง หรือมติใดไม่เป็นไปตามมาตรานี้ ให้การนั้นเป็นอันสิ้นผล  และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน
ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับกลุ่มการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งได้แจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เท่าที่จะกระทำได้  ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยปรึกษาหารือกับกลุ่มการเมืองทั้งหลายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง
มาตรา ๗๗  ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติประเมินผลการวางตนของผู้นำการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐ
และให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติประเมินผลการดำเนินการของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง
แล้วให้แจ้งให้ผู้นั้น พรรคการเมือง รวมทั้งกลุ่มการเมืองนั้นทราบ และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการอื่นที่จำเป็นในการดำเนินการของคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ


หมวด ๒
แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
------------
มาตรา ๗๘  บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๗๙  รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพ
แห่งอาณาเขตและเขตอำนาจรัฐ ความมั่นคงของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข และผลประโยชน์ของชาติ  รวมทั้งต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี
ที่ทันสมัย โดยเหมาะสมและเพียงพอแก่ความจำเป็นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และเพื่อการพัฒนาประเทศ
มาตรา ๘๐  รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย
ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนาอื่น  ส่งเสริมให้ศาสนิกชนเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน  ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา  รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างศีลธรรม พัฒนาจิตใจ และปัญญา
มาตรา ๘๑  รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามสนธิสัญญาและพันธกรณีที่ทำไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการพัฒนา
บนพื้นฐานของการเคารพอธิปไตยแห่งดินแดน ความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ  รวมทั้งต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดพัฒนาการตามพันธกรณีให้มีความก้าวหน้าตามลำดับ
มาตรา ๘๒  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดระบบงานราชการและ
งานของรัฐอย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(๑) จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
(๒) พัฒนาและสร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน
(๓) กระจายอำนาจ และจัดภารกิจ อำนาจหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
(๔) มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
(๕) มีกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
(๖) คุ้มครองให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว

 (๗) ส่งเสริมและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจริยธรรม
การจัดทำบริการสาธารณะใดที่องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดย
มีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพ ไม่น้อยกว่ารัฐ รัฐพึงกระจายภารกิจดังกล่าวให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน หรือเอกชนดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมจากรัฐ
มาตรา ๘๓  รัฐต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
(๑) มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แผน และงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมกับส่วนราชการและองค์กรบริหารท้องถิ่น
(๒) สงวน ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างยั่งยืน
(๓) คุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทางเศรษฐกิจ สังคม และความรู้รักสามัคคีของบุคคลในชุมชนนั้นและกับชุมชนอื่น
(๔) ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันดีงาม
ของชุมชน ของท้องถิ่น และของชาติ
(๕) คุ้มครองชนพื้นเมืองและชนชาติพันธุ์ให้ดำรงอัตลักษณ์ของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี
รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับรัฐ ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น ในการดำเนินการตามมาตรานี้
มาตรา ๘๔  รัฐต้องจัด ส่งเสริม และทำนุบำรุงการศึกษาอบรมทุกระดับและทุกรูปแบบ โดย
(๑) สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาอบรมโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาคนให้เกิดความรู้
มีศีลธรรม มีการพัฒนาจิตใจ ปัญญา และทักษะชีวิต ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก
(๒) มีนโยบายการศึกษาที่มีความต่อเนื่อง
(๓) มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอ
(๔) มีการพัฒนาหลักสูตรทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับ
ภูมิสังคมและพัฒนาการของโลก
(๕) พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และปราชญ์ชาวบ้าน  รวมทั้งจัดระบบการให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรในภาครัฐและภาคเอกชน
(๖) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
และการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งการคุ้มครองภูมิปัญญาและสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้น
มาตรา ๘๕  รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม  เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว  สงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก  และพัฒนาระบบหลักประกันรายได้และสวัสดิการอื่นสำหรับผู้สูงอายุ  ทั้งนี้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งตนเองได้  ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และเอกชน มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการดำเนินการดังกล่าวด้วย
มาตรา ๘๖  รัฐต้องจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน  ส่งเสริมการนำแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทยมาใช้ในการให้บริการ  พัฒนาระบบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ
อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน  รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดทำบริการและพัฒนาระบบการสาธารณสุข
มาตรา ๘๗  รัฐต้องจัดให้มีการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม  ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม จัดให้มีการประเมินผลกระทบของร่างกฎหมายที่เสนอ  รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการตรา
กฎหมายและกฎ
รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวดเร็ว และเป็นธรรม  คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมิให้เกิดการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลอื่น
รัฐต้องจัดระบบงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรมให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่าง
มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย  ป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากประชาชน
โดยมิชอบ  รวมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้ทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
จัดให้มีกลไกการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการยุติธรรมชุมชนและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก  และสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
มาตรา ๘๘  รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุล มีเสถียรภาพ และยั่งยืน
รัฐต้องส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม
ทางเศรษฐกิจและสังคม  มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการประกอบกิจการ  รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจของประเทศ  คุ้มครอง ส่งเสริม และขยายโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน  และต้องป้องกันการผูกขาด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
รัฐไม่พึงประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์
ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาประโยชน์สาธารณะ หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
รัฐต้องส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม  ส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าและบริการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย  ส่งเสริมระบบสหกรณ์ และพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศให้มีคุณภาพและยั่งยืน
 มาตรา ๘๙  รัฐต้องดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และงบประมาณภาครัฐ โดยยึดหลักการรักษาวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างคุ้มค่า  จัดให้มีระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม
มีระบบภาษีอากรที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  จัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศและความเสมอภาคด้านอื่น  มีกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว  และมีกลไกตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงิน
ของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
มาตรา ๙๐  รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงานและแรงงานสูงวัยมีงานทำที่เหมาะสม  คุ้มครองแรงงานเด็ก สตรี ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ และแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน  จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม  รวมทั้งต้องให้ผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
มาตรา ๙๑  รัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และต้องมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในการผูกขาดของเอกชน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร หรือปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงของประชาชน
มาตรา ๙๒  ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ  รัฐต้องบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ ประชาชน และชุมชน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  และต้องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
รัฐต้องส่งเสริม บำรุงรักษา คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม และควบคุมกำจัดภาวะมลพิษโดยมีมาตรการ
ที่มีประสิทธิผล  จัดหาเครื่องมือและกลไกต่างๆ เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย และมีความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
รัฐต้องจัดให้มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น และดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ยั่งยืน และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
โดยให้สอดคล้องกับหลักการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
รัฐต้องจัดให้มีการผังเมือง การพัฒนาเมืองและชนบทในลักษณะบูรณาการ จัดระบบการใช้ที่ดิน
ให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการใช้การผังเมืองเป็นแนวทาง
และมาตรฐานในการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน จัดระบบ
การถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรบริหารท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วม
ในการดำเนินการตามมาตรานี้
มาตรา ๙๓  รัฐต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน  กำกับดูแลให้มีการประกอบการและการใช้ประโยชน์จากพลังงานและพลังงานทดแทนอย่างได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม  สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทให้เต็มศักยภาพ  ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และการใช้ประโยชน์จากพลังงานทุกประเภทอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ  รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน องค์กรบริหารท้องถิ่น และเอกชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและการผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่ายด้วย
มาตรา ๙๔  รัฐต้องส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมในทุกมิติเพื่อให้เป็นรากฐานเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น บริหารจัดการวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม และเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม  ทั้งนี้ โดยต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามมาตรานี้
มาตรา ๙๕  รัฐต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาการกีฬาเพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
และต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในทุกระดับ รวมทั้งจัดให้มีการบริหารจัดการด้านการกีฬาที่เป็นระบบ ทันสมัย และมีมาตรฐาน อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม




หมวด ๓
รัฐสภา
------------
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
------------
มาตรา ๙๖  รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
พลเมืองจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๙๗  ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน  ในกรณีที่ไม่มีทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา หรือทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน ตามลำดับ
ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ
ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในทางการเมือง
รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
มาตรา ๙๘  ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
มาตรา ๙๙  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๑๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) หรือ (๑๒) หรือมาตรา ๑๒๘ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภา
ที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๑๐๐  ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดกระทำการหรือมีพฤติการณ์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
ให้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้สมาชิก
ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพได้
มติของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียง
ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา
มาตรา ๑๐๑  การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อม
ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี  เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือได้รับเลือกมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทน
อย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
มาตรา ๑๐๒  ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎ หรือดำเนินการใดเพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือกฎหรือกระทำการดังกล่าวไม่ดำเนินการหรือไม่กระทำการภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือภายในเวลาอันสมควรในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ทำให้การปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญนี้
ไม่บังเกิดผล ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือกฎหรือมีหน้าที่กระทำการนั้น ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  และในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายย่อมฟ้องรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้



ส่วนที่ ๒
สภาผู้แทนราษฎร
------------
มาตรา ๑๐๓  สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสี่ร้อยห้าสิบคนแต่ไม่เกิน
สี่ร้อยเจ็ดสิบคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสองร้อยห้าสิบคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยคนแต่ไม่เกินสองร้อยยี่สิบคน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละแบบแยกกันโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่น
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนผสมระหว่างแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง
สี่ร้อยห้าสิบคน  ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของจำนวนสี่ร้อยห้าสิบคน ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร  แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว  และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มาในภายหลังนี้ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด อันทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงสองร้อยคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๐๔  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละหนึ่งคน
การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้คำนวณโดยการนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองร้อยห้าสิบคน
การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณโดยการนำจำนวนราษฎร
ต่อสมาชิกหนึ่งคนที่คำนวณได้ตามวรรคสอง มาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น  จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตามวรรคสอง ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน  จังหวัดใด
มีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน
ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตามวรรคสามแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสองร้อยห้าสิบคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสามมากที่สุด ให้จังหวัดนั้น
มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน  และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัด
ที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสามในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยห้าสิบคน
จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินหนึ่งคน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง
มีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีได้ในจังหวัดนั้น โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน  ในกรณีที่จังหวัดใดมีการแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งเขต ต้องแบ่งพื้นที่ของ
เขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
มาตรา ๑๐๕  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นเป็นจำนวนตามสัดส่วนนั้น โดยให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกซึ่งได้รับคะแนนมากที่สุดเรียงไปตามลำดับ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง  และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อตามบัญชีรายชื่อที่ได้มีการเรียงลำดับแล้วของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้น  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๖  การกำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
ให้จัดแบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็นหกภาค และให้แต่ละภาคเป็นเขตเลือกตั้ง
การจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นภาค ในแต่ละภาคต้องจัดให้พื้นที่ของจังหวัดทั้งจังหวัดอยู่ในภาคเดียวกัน จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในภาคเดียวกัน และในทุกภาคต้องมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร
ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่จำต้องมีจำนวนใกล้เคียงกัน
การจัดทำบัญชีรายชื่อ จำนวนรายชื่อที่ต้องมีในแต่ละบัญชี การยื่นบัญชีรายชื่อ และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๗  การคิดคำนวณเพื่อหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือ
กลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นำคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองหรือทุกกลุ่มการเมืองได้รับ
จากทุกภาค มารวมกันเพื่อคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคการเมืองหรือ
กลุ่มการเมืองนั้นจะพึงมีได้ทั้งประเทศ

(๒) ให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองได้รับเลือกตั้ง มาเทียบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๑) เพื่อคำนวณให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นทั้งหมดตาม (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี
(๓) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๑) มีจำนวนมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งแบบ
แบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตรวมกัน ให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นจนเท่าจำนวนสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คำนวณได้ตาม (๑)
(๔) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๑) มีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง
แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตรวมกัน ให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะที่ได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
(๕) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่คำนวณได้ตาม (๓) รวมกันมากกว่า
สองร้อยยี่สิบคน ให้ปรับลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองหรือ
กลุ่มการเมืองลงตามสัดส่วนให้รวมกันเป็นสองร้อยยี่สิบคน
การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม (๓) ให้กับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
ในแต่ละภาค ให้คำนวณโดยเฉลี่ยสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ได้รับในภาคนั้น
กับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศตาม (๑) ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และการคำนวณโดยวิธีอื่นในกรณีที่มีการ
จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือในกรณีอื่น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๘  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑) มีสัญชาติไทย  แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง  และ
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใน
เขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ลงทะเบียน
แสดงความจำนงว่าจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการออกเสียงลงคะแนน และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา ๑๐๙  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา
(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มาตรา ๑๑๐  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(๓) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า
สี่ปีการศึกษา
(ง) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน
ไม่น้อยกว่าห้าปี
(๔) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตาม (๓) ด้วย  แต่ในกรณีนี้จังหวัดให้หมายรวมถึงจังหวัดที่อยู่ในภาคเดียวกันด้วย
(๕) ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
(๖) มีคุณสมบัติอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๑๑  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๙ (๑) (๒) หรือ (๔)
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง  เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริต
ต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือ
มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
(๙) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมือง
(๑๐) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๑๑) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี
(๑๒) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(๑๓) เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๔
(๑๕) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการดำรงตำแหน่งอื่น
(๑๖) ลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๑๒  ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
ในกรณีที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในภาคใด พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในภาคนั้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วย
เมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นหรือพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ส่งบุคคลนั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้งจะถอนการสมัครรับเลือกตั้งหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้ง มิได้
มาตรา ๑๑๓  ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือจะเป็นบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือก ต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นหรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีนั้นได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่เลือกบัญชีใด
มาตรา ๑๑๔  อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีสมาชิก
เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้
มาตรา ๑๑๕  สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา ๑๑๖  สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) สภาผู้แทนราษฎรมีมติตามมาตรา ๑๐๐
(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๐
(๖) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๑
(๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๒
(๘) ลาออกจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก
(๙) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
ยุบพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิกและไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง  ในกรณีเช่นนี้
ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
(๑๐) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๙ หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๕๔ หรือศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  ในกรณีเช่นนี้
ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ถูกถอดถอนหรือวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี
(๑๑) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร  หรือไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม
(๑๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ  เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๑๑๗  เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเมื่อสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ในกรณีที่มีเหตุใดๆ ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำในวันเดียวกันได้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยนั้นใหม่ หรือดำเนินการประการอื่นเพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้  ในกรณีเช่นนี้จะเปิดเผยผลการนับคะแนนในเขตเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ได้ต่อเมื่อได้มีการลงคะแนนในทุกหน่วยเลือกตั้งแล้ว  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๑๘  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มี
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร  และให้นำความในมาตรา ๑๑๗ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
มาตรา ๑๑๙  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง  เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน  และมิให้นำความในมาตรา ๑๐๗ มาใช้บังคับ
(๒) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ประธาน
สภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่อซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในลำดับถัดไปซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศรับรองผลไว้ตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง ในภาคนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่ง
ที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง  เว้นแต่ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีนั้นที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๑) ให้เริ่มนับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่ง
ที่ว่าง  ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๒) ให้เริ่มนับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา  และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
มาตรา ๑๒๐  ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคหรือกลุ่มของตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก
จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ในกรณีที่มีเสียงสนับสนุนเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านใน
สภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๓ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง


ส่วนที่ ๓
วุฒิสภา
------------
มาตรา ๑๒๑  วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการเลือกกันเองและการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  ดังต่อไปนี้  ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๑) ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร และข้าราชการฝ่ายทหารซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละไม่เกินสิบคน
(๒) ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสิบห้าคน
(๓) ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสามสิบคน
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กเยาวชน สตรี ด้านผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
และด้านอื่น ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวนห้าสิบแปดคน
(๕) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน โดยให้เลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมตามด้านต่าง ๆ ซึ่งได้รับการคัดกรองจังหวัดละไม่เกินสิบคน  ในกรณีที่มีจังหวัดเพิ่มขึ้น ให้ลดจำนวนที่พึงมีตาม (๔) เมื่อถึงคราวที่มีการสรรหา และเพิ่มจำนวนตาม (๕) ให้ได้เท่าจำนวนจังหวัดที่เพิ่มขึ้น
ให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ ตาม (๔)  ทำหน้าที่สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาเท่าจำนวนที่พึงมีตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ให้ผู้เข้ารับการสรรหาตาม (๔) มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งตาม (๕) ด้วย
ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่คัดกรองบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมในแต่ละจังหวัด ให้มีจำนวนไม่เกินสิบคน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงตาม (๕) โดยให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับและให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๑ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนน้อยกว่าร้อยละแปดสิบห้าของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตามประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ และต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้สมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาในภายหลังนั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาแทน
 จำนวนที่จะพึงมีในแต่ละประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกกันเองตาม (๑) (๒)
และ (๓) รวมทั้งในการสรรหาตาม (๔)  การคัดกรอง การเลือกตั้ง และการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม
(๕) ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการ
ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๒๒  ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการดำเนินการ
ให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๒๓  ผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ประกาศให้เริ่มกระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๓) มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒๑
(๔) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า สำหรับสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๒๑ (๑) (๒)  (๔) และ (๕)
(๕) คุณสมบัติอื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๒๔  ผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๒) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง หรือตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาห้าปีก่อนวันที่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(๓) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(๔) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) หรือ (๑๖)
(๕) เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี
มาตรา ๑๒๕  สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งใด
ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มิได้
บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็น
รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มิได้

มาตรา ๑๒๖  สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา  ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองและการสรรหาเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปีนับแต่วันเลือกตั้งหรือวันที่มีประกาศตามวรรคหนึ่ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระ มิได้
ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า
จะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่  ในกรณีนี้ ให้ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาต่อไป จนถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  และให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุสูงสุดตามลำดับปฏิบัติหน้าที่ประธานและรองประธานวุฒิสภาแทนจนกว่าจะมีการเลือกประธานหรือรองประธานวุฒิสภาขึ้นใหม่
มาตรา ๑๒๗  เมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้
ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง และ
วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกกันเองหรือการสรรหาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเพื่อ
ให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง  และวันเริ่มต้นกระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแต่ละประเภทตามมาตรา ๑๒๑ ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทุกประเภท
มาตรา ๑๒๘  สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) วุฒิสภามีมติให้ออกตามมาตรา ๑๐๐
(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒๓
(๖) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๔
(๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๒๕๒
(๘) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๙ หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๕๔ หรือศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือให้เพิกถอน
สิทธิเลือกตั้ง  ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ถูกถอดถอนหรือศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี
(๙) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า
หนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา  หรือไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินจำนวน
ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม

(๑๐) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ  เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ
ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๑๒๙  เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุตามมาตรา ๑๒๘ ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว  และให้สมาชิกวุฒิสภา
ผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน  เว้นแต่วาระของสมาชิกวุฒิสภาที่ว่างลงนั้นจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้
มาตรา ๑๓๐  เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป  ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นในการที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ให้วุฒิสภาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการเสนอนั้น มิได้  แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากนายกรัฐมนตรี






ส่วนที่ ๔
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง
------------
มาตรา ๑๓๑  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่
ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
มาตรา ๑๓๒  ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนใน
ที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา ๑๓๓  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภามีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภา
สองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา
ให้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงตำแหน่งเดียวก่อนเพื่อทำหน้าที่ประธาน โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกคะแนนเสียงสูงสุดเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร  และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสองคน  โดยให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๒๐
ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือ
สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำทุกสามปี
ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานและรองประธานวุฒิสภา ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามวรรคสาม เมื่อ
(๑) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
(๒) ลาออกจากตำแหน่ง
(๓) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ  เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองขณะเดียวกัน มิได้  และจะเข้าร่วมประชุมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองมิได้ด้วย
มาตรา ๑๓๔  ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ  รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมายและปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตนเป็นกลางในทางการเมือง
เมื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานและรองประธานวุฒิสภาไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกกันเองให้สมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๑๓๕  การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม  เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถามตามมาตรา ๑๖๕  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะกำหนดเรื่ององค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้
การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ  เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ในรัฐธรรมนูญนี้
สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน  ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน
ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ต้องจัดให้มีการบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคน และเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ในที่ที่ประชาชนอาจเข้าไปตรวจสอบได้  เว้นแต่
กรณีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ
เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้  และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง บุคคล หรืออาณัติอื่นใด
มาตรา ๑๓๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๓ วรรคสี่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป  ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด  ในกรณีที่การเริ่มประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสำหรับปีนั้นก็ได้
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๘๑ และมาตรา ๑๘๒ ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในภาค ๑ หมวด ๑ พระมหากษัตริย์  หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศ

สงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน  แต่พระมหากษัตริย์
จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
การปิดสมัยประชุมสมัยสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา ๑๓๗  พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุม
สมัยวิสามัญก็ได้
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๘ การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๑๓๘  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิ
เข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุม
สมัยวิสามัญได้
คำร้องขอดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา
ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๓๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๑ และมาตรา ๒๙๙  ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมซึ่งประธานมิได้อนุญาตให้อภิปรายหรือสั่งให้หยุดอภิปราย หรือการกล่าวถ้อยคำที่มีการถ่ายทอดให้ออกไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น
การถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น
ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น
ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตาม

วิธีการและภายในเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น  ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ
บุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี  และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมหรือประธานคณะกรรมาธิการอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด ที่ได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๐  ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา  เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด หรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้
ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ
เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง  แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
การพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลได้กระทำก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง
ย่อมเป็นอันใช้ได้
ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
คำสั่งปล่อยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
มาตรา ๑๔๑  ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้  เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การประชุมวุฒิสภาตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๑๙๒
(๒) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ความเห็นตามมาตรา ๑๓๐ วรรคสองหรือวรรคสาม
(๓) กรณีอื่นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้งานของวุฒิสภาหรืองานด้าน
นิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมวุฒิสภาตามมาตรานี้ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในกรณีที่มีปัญหาตาม (๓) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
มาตรา ๑๔๒  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา  แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี สมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่รวมกัน แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
มาตรา ๑๔๓  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีสมาชิกในสังกัดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับข้อบังคับการประชุมตามมาตรานี้แล้ว ก่อนประกาศใช้ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างข้อบังคับการประชุมข้อใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อ
รัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป  ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ
หรือข้อบังคับการประชุมใดตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างข้อบังคับการประชุมนั้น
เป็นอันตกไป
มาตรา ๑๔๔  สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา
มติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องระบุกิจการหรือเรื่องให้ชัดเจนและไม่ซ้ำหรือซ้อนกัน
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

กรรมาธิการสามัญซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๔๓ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนตามวรรคสาม
คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่จะมีคำสั่งเรียกผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กร
ตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยตรงตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย มิได้
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคห้าเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการตามวรรคห้า  เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน บุคคลนั้น
มีสิทธิที่จะไม่แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นได้


ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
------------
มาตรา ๑๔๕  ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
(๑) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๙
(๒) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๑
(๓) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๒
(๔) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๓
(๕) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ตามมาตรา ๑๓๖ วรรคสี่
(๖) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๖
(๗) การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๓๗
(๘) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๔๖
(๙) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๕๑ และมาตรา ๑๖๑ วรรคสอง
(๑๐) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา ๑๕๗
(๑๑) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามมาตรา ๑๖๒ วรรคสอง
(๑๒) การแถลงนโยบายตามมาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง
(๑๓) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๘๐
(๑๔) การให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามมาตรา ๑๗๙
(๑๕) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา ๑๙๒
(๑๖) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๙๓
(๑๗) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒
มาตรา ๑๔๖  ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา  ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน
ให้นำความในมาตรา ๑๔๓ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาด้วย โดยอนุโลม
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม  เว้นแต่ในเรื่อง
การตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา


ส่วนที่ ๖
การตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
------------
มาตรา ๑๔๗  ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(๓) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสี่สิบคน
(๔) ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการ
จัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(๕) พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่พลเมืองได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (๕) แล้ว ให้สภาที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น เริ่มพิจารณาภายในเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือวันที่นายกรัฐมนตรีส่งคำรับรองกลับคืนมา หากบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นอีก ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๖ วรรคสาม มาใช้บังคับกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นด้วย
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง
ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๒๗๙ มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๔  ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา ๒๘๐
มาตรา ๑๔๘  ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ร่างพระราชบัญญัติ
ตามมาตรา ๑๔๗ (๑) (๒) (๔) และ (๕) ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน  ส่วนร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๔๗ (๓)  ให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน
ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย
ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินั้นได้โดยสะดวก
มาตรา ๑๔๙  ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
(๒) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณแผ่นดิน

(๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
(๔) เงินตรา
ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมี
คำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากรณีตามวรรคสอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว
มติของที่ประชุมร่วมกันตามวรรคสอง ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๕๐  ร่างพระราชบัญญัติใดที่ในขั้นรับหลักการไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
แต่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติม และประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาเห็นว่า
การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร
หรือประธานวุฒิสภาสั่งระงับการพิจารณาไว้ก่อน และภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว ให้ประธาน
สภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย
ในกรณีที่ที่ประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่งวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้น
มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ให้สภาผู้แทนราษฎร
หรือวุฒิสภาดำเนินการแก้ไขเพื่อมิให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
มาตรา ๑๕๑  ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา ๑๗๗ ว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน  หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ และคะแนนเสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง  หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบ ให้ตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภามีจำนวนเท่ากันตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภารายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติ
ที่ได้พิจารณาแล้วต่อรัฐสภา  ถ้ารัฐสภามีมติเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  ถ้ารัฐสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
มาตรา ๑๕๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐๒ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา ๑๔๘ และลงมติเห็นชอบแล้ว ให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่ออีกสภาหนึ่งซึ่งยังมิได้พิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว  โดยต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน  แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน  ทั้งนี้ เว้นแต่
สภาที่พิจารณาในครั้งหลังนี้จะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน  กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงสภาดังกล่าว
กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๕
ถ้าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาดังกล่าวได้ให้ความเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไปยังวุฒิสภา ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน  คำแจ้ง
ของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเด็ดขาด
ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมิได้แจ้งไปว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
มาตรา ๑๕๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐๒ เมื่อสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว
(๑) ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
(๒) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก
(๓) ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม  ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ถ้าสภานั้นเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  ถ้าเป็นกรณีอื่น
ให้แต่ละสภาตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันรายงาน
และเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง  ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบ
ด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖ ถ้าสภาใด
สภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน
คณะกรรมาธิการร่วมกันอาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้  และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันต้องมีกรรมาธิการของสภาทั้งสองมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ไม่ส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรกภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๒  ให้ถือว่าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ได้ให้ความเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป

มาตรา ๑๕๔  ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๕๓  นั้น
(๑) ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภาตามมาตรา ๑๕๓ (๒) วุฒิสภาอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติยังยั้ง
ถ้าวุฒิสภามีมติยืนยันร่างเดิมของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๓ วรรคหนึ่ง (๓) วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ต่อไป  เว้นแต่สภาใดสภาหนึ่ง
ไม่เห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้น
เป็นอันตกไป  แต่ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ยืนยันร่างเดิมภายในเวลาดังกล่าวหรือมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียง
ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
(๒) ถ้าวุฒิสภาเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๓ (๒) สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่วุฒิสภาลงมติยับยั้ง  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  แต่ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่  ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
(๓) ถ้าเป็นกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๕๓ (๓) นั้น สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร หรือของวุฒิสภา หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน
พิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
(๔) ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ไม่ว่าวุฒิสภาจะพิจารณายืนยันร่างพระราชบัญญัตินั้นหรือไม่ก็ตาม
ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
(๕) ร่างพระราชบัญญัติใดที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อเสนอตามมาตรา ๑๔๗ (๕) ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องเป็นอันตกไป  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา
รวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา อาจร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้ได้ข้อยุติได้
มาตรา ๑๕๕  ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา ๑๕๓ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้มิได้

ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้น
เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
มาตรา ๑๕๖  ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย  และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา ๑๕๗  ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่  ถ้ารัฐสภามีมติ
ยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา ๑๕๘  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาวินิจฉัยว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด  ทั้งนี้ โดยมีสัดส่วนหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน
มาตรา ๑๕๙  ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
(๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง
(๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
(๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
(๗) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๘) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
(๙) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๐) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

(๑๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
(๑๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
มาตรา ๑๖๐  ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๓) สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ
(๔) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ซึ่งประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตาม (๑) (๒) และ (๔) ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน
ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตาม (๓) ให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน
มาตรา ๑๖๑  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้กระทำเป็นสามวาระ ดังต่อไปนี้
(๑) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา
(๒) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ มาใช้บังคับกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖๒  ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมานั้น เป็นอันตกไป
ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย  แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินั้น
เป็นอันตกไป  แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอตามมาตรา ๑๔๗ (๕) ที่รัฐสภายังมิได้
ให้ความเห็นชอบ ให้รัฐสภาที่เลือกตั้งขึ้นใหม่พิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องมีมติตามวรรคนี้อีก

ส่วนที่ ๗
การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
------------
มาตรา ๑๖๓  เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป  ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
ในกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทำให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปตามวรรคสอง ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป  ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยมติในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา แล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙๘ และมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ แล้วแต่กรณี ต่อไป
มาตรา ๑๖๔  ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๕๖ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา ๑๕๗ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก
ครั้งหนึ่ง
(๑) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(๒) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ แต่มิใช่กรณี
ตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙๘ และมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ แล้วแต่กรณี ต่อไป



ส่วนที่ ๘
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
------------
มาตรา ๑๖๕  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ และนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบโดยเร็ว  แต่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบกระทู้ถามนั้นด้วยตนเอง  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
มาตรา ๑๖๖  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย  และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้  เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม
การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๕๔ ก่อน  หรือถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินอันเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินแผ่นดิน จะเสนอโดยไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัย
การคลังและการงบประมาณตามมาตรา ๒๔๔ ก่อน มิได้  และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๕๔ หรือมีการฟ้องคดีตามมาตรา ๒๔๔ แล้วแต่กรณี แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้
เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ  การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด และให้นับเฉพาะคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเท่านั้น  มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงก่อนมีการลงมติดังกล่าว
ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ
สภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป  และมิให้นำมาตรา ๑๗๒ มาใช้บังคับ

มาตรา ๑๖๗  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในหกของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตำแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามวรรคหนึ่งต่อไป
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับรัฐมนตรีผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเดิมไม่เกินเก้าสิบวันก่อนวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖๘  ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มิได้อยู่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๖๖ หรือมาตรา ๑๖๗ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา ๑๖๖ หรือมาตรา ๑๖๗ ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้บริหาร
ราชการแผ่นดินมาเกินกว่าสองปีแล้ว
มาตรา ๑๖๙  สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ จะกระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง
มาตรา ๑๗๐  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ


หมวด ๔
คณะรัฐมนตรี
------------
มาตรา ๑๗๑  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้
มาตรา ๑๗๒  ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๖
การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  แต่ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
มาตรา ๑๗๓  ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๑๗๔  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีจะต้องนำชื่อผู้ซึ่งจะเป็นรัฐมนตรีส่งให้ประธานวุฒิสภา แล้วให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๑๓๐ วรรคสอง ต่อไป
มาตรา ๑๗๕  รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) หรือ (๑๖)

(๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง  เว้นแต่ในความผิด
อันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๖) ไม่ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อประธานวุฒิสภา ปกปิด หรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
(๗) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
มาตรา ๑๗๖  ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้
มาตรา ๑๗๗  คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในเรื่องใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ  ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่
ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อย
ให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อน
เพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
มาตรา ๑๗๘  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และย่อมมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา  และให้นำเอกสิทธิ์
ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๗๙  ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้  ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน  รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๘๐  ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้  ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
มาตรา ๑๘๑  นายกรัฐมนตรีอาจเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องแล้วให้จัดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาลงมติภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรียื่นเรื่องดังกล่าว  แต่นายกรัฐมนตรีจะเสนอขอความไว้วางใจตามมาตรานี้เมื่อมีการเข้าชื่อกันเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๖ แล้วมิได้
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอขอความไว้วางใจตามมาตรานี้แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยื่นญัตติเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๖ ในระหว่างนั้น มิได้
ในกรณีที่มติไว้วางใจมีคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๑๘ ก็ได้
ในกรณีที่มติไว้วางใจมีคะแนนเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๖ ในสมัยประชุมนั้นอีกมิได้
มาตรา ๑๘๒  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติใด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติใด เป็นการแสดงถึงความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี  ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้เข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อ
ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่มีการแถลงเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัตินั้น ผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่มีการแถลงเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นตามวรรคหนึ่ง
ให้รอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  และให้นำความในมาตรา ๑๖๖
มาใช้บังคับโดยอนุโลม  แต่ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัตินั้น ผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
การดำเนินการตามมาตรานี้ ให้กระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง
มาตรา ๑๘๓  รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๕
(๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
(๓) คณะรัฐมนตรีลาออก

ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๕ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ โดยอนุโลม
มาตรา ๑๘๔  คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่  แต่ถ้าเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา ๑๘๓ (๒) ให้ปลัดกระทรวงของแต่ละกระทรวงรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น และให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรี ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่  โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นและภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำร้องขอของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม
(๒) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน  รวมทั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ  เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๓) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๔) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน
ต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(๕) ไม่ใช้หรือยอมให้ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ให้ปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรี เลือกปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรี
คนหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี  และเลือกปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีอีกจำนวน
สองคนเพื่อปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี
ให้การรักษาราชการแทนของปลัดกระทรวงตามมาตรานี้สิ้นสุดลงเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว
มาตรา ๑๘๕  ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ  เว้นแต่เป็นกรณีที่คดี
ยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๔) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๖๖ หรือมาตรา ๑๖๗
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๕

(๖) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๘๖
(๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๐ หรือมาตรา ๒๕๑
(๘) ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๕๓
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๑ มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (๒) (๓) (๕) หรือ (๗) หรือวรรคสอง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
มาตรา ๑๘๖  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
มาตรา ๑๘๗  ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนด
ให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน
ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า  ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
หากพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และพระราชกำหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทน
ราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทน
ราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ในกรณีที่ไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาในกรณียืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ
มาตรา ๑๘๘  ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใดตามมาตรา ๑๘๗ วรรคสาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๗ วรรคหนึ่ง และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ส่งความเห็นนั้นมา
เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาได้รับความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๗ วรรคหนึ่ง ให้
พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๗ วรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด
มาตรา ๑๘๙  ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะ
ทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๙๐  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัด
ต่อกฎหมาย
มาตรา ๑๙๑  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
มาตรา ๑๙๒  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง และการลงมติต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๙๓  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบ
ศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ

เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น  โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย  ในการนี้ คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยและจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาหรือจะเข้าทำหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว  ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๔ มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
มาตรา ๑๙๔  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
มาตรา ๑๙๕  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา ๑๙๖  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น  เว้นแต่เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ

มาตรา ๑๙๗  เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและ
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้จ่ายได้ไม่ก่อน
วันเข้ารับหน้าที่
บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๑๙๘  บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน
ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้  และ
ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการย่อมต้องรับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมืองในฐานะที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น
บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน


หมวด ๕
การคลังและการงบประมาณ
------------
มาตรา ๑๙๙  การดำเนินนโยบายการคลังและงบประมาณของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หลักประสิทธิภาพและความคุ้มค่า หลักการรักษาวินัยทางการคลัง และหลักความเป็นธรรมในสังคม
มาตรา ๒๐๐  เงินแผ่นดินหมายความรวมถึง
(๑) เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม
(๒) เงินรายได้จากการดำเนินงาน หรือจากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองและใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ โดยไม่จำต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
การใช้จ่ายเงินแผ่นดินตาม (๑) โดยไม่ได้ตราเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม จะกระทำมิได้
การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตาม (๒) ต้องมีขอบเขตและ
กรอบวงเงินเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการ
ใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
มาตรา ๒๐๑  งบประมาณแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีและร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม ต้องแสดงงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงาน และตามพื้นที่  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระทางการคลังที่มีผลผูกพันต่อเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๐๐ (๑)
จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโอนงบประมาณ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ  เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๒๐๓
การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันที่มีผลต่อเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๐๐ (๒) ต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส และการรักษาวินัยทางการคลังตามหมวดนี้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
มาตรา ๒๐๒  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องวิเคราะห์และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้
ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภา
ในการพิจารณาของวุฒิสภา วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้  ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น  ในกรณีเช่นนี้และในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  แต่ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๔ วรรคสอง
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใด
อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
(๒) ดอกเบี้ยเงินกู้
(๓) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ในกรณีที่มีการแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายการหรือจำนวนในรายการใด จำนวนรายจ่ายที่
ลดหรือตัดทอนนั้น จะนำไปจัดสรรสำหรับรายการ กิจกรรม แผนงาน หรือโครงการใด ไม่ว่าจะมีอยู่แล้วหรือ
ที่ตั้งขึ้นใหม่ มิได้
รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ในกรณีที่รัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ ให้สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณประจำปีได้โดยตรง โดยต้องแสดงสถานะเงินนอกงบประมาณและเงินอื่นใดที่หน่วยงานนั้นมีอยู่ ไปพร้อมกับคำขอแปรญัตติด้วย  และคณะกรรมาธิการต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณา  ในกรณีนี้ คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มงบประมาณรายจ่ายให้ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
มาตรา ๒๐๓  การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโอนงบประมาณ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ  เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
ในกรณีที่มีการจ่ายเงินไปก่อนตามวรรคหนึ่งโดยใช้เงินคงคลัง ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณ

ประจำปีงบประมาณถัดไป  โดยต้องกำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้
เงินคงคลังจ่ายไปก่อนตามวรรคหนึ่งด้วย
ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ คณะรัฐมนตรีอาจโอนหรือนำรายจ่าย
ที่กำหนดไว้สำหรับรายการหนึ่ง ไปใช้ในรายการอื่นที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมได้ แต่ต้องรายงานให้รัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ให้คณะรัฐมนตรีรายงานการโอนหรือการนำรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับรายการหนึ่งไปใช้ในรายการอื่นที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม ให้รัฐสภาทราบทุกหกเดือน
มาตรา ๒๐๔  เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีอยู่  ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำรายงานการรับและการ
ใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ  และให้คณะรัฐมนตรีรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ
มาตรา ๒๐๕  ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่
ของรัฐผู้ใด ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัย
การคลังและการงบประมาณ และให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้น



หมวด ๖
ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน
------------
มาตรา ๒๐๖  ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น มิได้
มาตรา ๒๐๗  การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนต้องใช้ระบบคุณธรรม
ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ประกอบด้วย กรรมการจำนวน
เจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตและ
เป็นกลางทางการเมือง ดังต่อไปนี้
(๑) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จำนวนสองคน
(๒) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง และ
ได้พ้นจากราชการแล้ว จำนวนสามคน ซึ่งได้รับเลือกโดยผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) ประธานกรรมการจริยธรรมของทุกกระทรวงซึ่งเลือกกันเอง จำนวนสองคน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
ให้วุฒิสภาพิจารณาประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลตามวรรคสอง
ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการตามวรรคสอง ให้ประธานวุฒิสภา
ส่งรายชื่อนั้นกลับไปให้ดำเนินการเลือกใหม่
ให้กรรมการตามวรรคสามประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคสองและวรรคสาม
ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรานี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
คณะกรรมการตามวรรคสองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการโดยเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๐๘  ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล อำนวยความ

สะดวกและให้บริการแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้อง
ให้มีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๐๙  การสั่งการในการบริหารราชการแผ่นดินให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร  เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนอาจสั่งการด้วยวาจาได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งบันทึกคำสั่งดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอให้ผู้สั่งลงนามในภายหลัง  ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใดดำเนินการไปโดยปราศจากการสั่งการดังกล่าวข้างต้น ย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายด้วยตนเอง  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่ดำเนินการใดซึ่งเป็นการสั่งการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๑๐  พลเมืองย่อมมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินดังต่อไปนี้
(๑) ให้ข้อมูลและความคิดเห็นในการบริหารราชการต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๒) มีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) ตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐๘ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในกรณีที่พบว่ามีการละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา ๒๐๘ ย่อมมีสิทธิขอให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือผู้บังคับบัญชาของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ชี้แจง แสดงเหตุผล และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีต่อศาล  ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย





หมวด ๗
การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น
------------
มาตรา ๒๑๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นตาม
หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นโดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่น
ที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชนหรือบุคคลสามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ
และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าองค์กรบริหารท้องถิ่น  รัฐหรือองค์กรบริหารท้องถิ่น  ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชนหรือบุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๑๒  องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่ในกรณีที่เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาจากความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่นก็ได้  และคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
องค์กรบริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและสร้างความมั่นคง
และเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น  ย่อมมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยต้องมีอำนาจหน้าที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน การศึกษาอบรม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น
องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องบริหารงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล และการคลัง โดยต้องคำนึงถึง
ดุลยภาพระหว่างความเป็นอิสระและการมีมาตรฐาน รวมทั้งความสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด ภาค
และประเทศเป็นส่วนรวม
องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีขนาดและศักยภาพที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตอบสนอง
ต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ในรูปแบบที่หลากหลาย สามารถสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์การเอกชน ได้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เป็นประโยชน์ และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

รัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้พัฒนาพื้นที่ร่วมกันและในภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๑๓  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้ ให้มีกฎหมายท้องถิ่น โดยต้องให้มีการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้น มีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจายอำนาจที่เป็นเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ มีการจัดสรรภาษีและรายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท  และมีระบบตรวจสอบและประเมินผลการกระจายอำนาจ
มาตรา ๒๑๔  การกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระทำตามกฎหมาย เท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนจากการใช้อำนาจขององค์กรบริหารท้องถิ่น เหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น และจะกระทบกับหลักความเป็นอิสระขององค์กรบริหารท้องถิ่นมิได้  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง รัฐอาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรฐานกลางให้องค์กรบริหารท้องถิ่นปฏิบัติและติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น
(๒) ทำสัญญาแผนระหว่างรัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น
(๓) ส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎ คำสั่ง มติ หรือการกระทำใด ของผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๔) การอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๑๕  ประชาชนหรือชุมชนย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น
ในการกำหนดรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องถิ่น การบริหารงานท้องถิ่น การออกเสียงประชามติระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การถอดถอน คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
องค์กรบริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงินและสถานการณ์การคลังท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ส่งเสริมสมัชชาพลเมือง รวมทั้งต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อ
ประชาชน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ พลเมืองอาจรวมกันเป็นสมัชชาพลเมืองซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากพลเมืองในท้องถิ่น และมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ มีภารกิจในการร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นในการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้
องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง ภารกิจของสมัชชาพลเมือง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๑๖  การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเป็นไปตามความเหมาะสม
และความจำเป็นขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ให้บุคลากรขององค์กรบริหารท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างส่วนท้องถิ่น และสามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้
(๒) ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบ ในระดับชาติและระดับจังหวัด ร่วมกันเป็นองค์กรเดียว โดยมีองค์ประกอบสี่ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์การบริหารท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนเท่ากัน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  ส่วนองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ



ภาค ๓
หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
------------
หมวด ๑
ศาลและกระบวนการยุติธรรม
------------
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
------------
มาตรา ๒๑๗  หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อย
มีหลักการพื้นฐานสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งโดยรัฐและประชาชน
(๒) การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
(๓) การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
(๔) นิติกระบวน ซึ่งอย่างน้อยต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญา
แก่บุคคล ให้บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิหรือเสรีภาพถูกกระทบ ไม่บังคับให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำซึ่งทำให้ต้องรับผิดทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำความผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง
และมีข้อกำหนดให้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด
(๕) ความเป็นอิสระของศาล และความสุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม
มาตรา ๒๑๘  กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีความ
เป็นธรรม มีมาตรฐานที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เหมาะสมกับ
ประเภทคดี มีประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลต้องมีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ
ทั้งของคู่ความและของศาลไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันในการพิจารณาพิพากษาคดี  และต้องเปิดเผย
ให้ทราบเป็นการทั่วไป
คู่ความ คู่กรณี และทนายความ มีหน้าที่ร่วมมือกับศาลเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดย
ไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ถ้ามีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตย่อมต้องรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ต้องแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยหรือการมีคำสั่ง ต้องอ่านโดยเปิดเผย รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย  และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย
มาตรา ๒๑๙  การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม
ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง และต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษา
ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิได้
เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้ เมื่อมีการเพิ่มเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการขึ้นเป็นไปตามสัดส่วน
การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
วินัยและการลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาและตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลชั้นสูงสุดที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นสังกัดอยู่  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๒๐  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
ในกรณีที่ศาลหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเห็นว่ากฎหมายหรือกฎใดก่อให้เกิด
ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่เป็นไปตามมาตรา ๘๗  ให้ศาลหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
มาตรา ๒๒๑  บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ  โดยให้จัดตั้งศาลอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้
การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือ
วิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๒๒  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อยสามคนแต่ไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ

โดยให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละหนึ่งปี  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งเป็นประธานกรรมการเป็นรายคดี
ที่มีปัญหาต้องพิจารณาวินิจฉัย
หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาและการวินิจฉัยปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๒๓  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่ง
เพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น  เว้นแต่เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตาย
ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
มาตรา ๒๒๔  ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย
ทุกประการ”
พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้
มาตรา ๒๒๕  คณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใด ต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือ
ตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาลในสัดส่วนที่เหมาะสม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษา
หรือตุลาการของศาลนั้น เป็นกรรมการ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาหรือตุลาการในชั้นศาลนั้นซึ่งไม่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาก่อน ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกินหนึ่งวาระ
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่ครบจำนวน  ถ้าคณะกรรมการจำนวน
ไม่น้อยกว่าหกคนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้
บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลหนึ่ง จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลอื่นหรือกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารศาลใด ในเวลาเดียวกันมิได้
มาตรา ๒๒๖  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหาร มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  ในกรณีที่ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวยังไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่เกษียณอายุราชการ ให้แต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่องค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นกำหนด
ผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร ซึ่งมีอายุ
ครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์
แต่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่พ้นจากราชการเพราะเหตุดังกล่าว อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๒๗  ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร มี
หน่วยธุรการของศาลที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลนั้น
การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง การประเมินประสิทธิภาพ และการดำเนินการทางวินัย เลขาธิการสำนักงานศาล ต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นตามที่กฎหมายบัญญัติ
สำนักงานศาลมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๒๘ องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม
ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ
และพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น
ในการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
คำสั่งชี้ขาดคดีเกี่ยวกับคำสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา ไม่อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ฎีกา ของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย ต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่ง รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย  และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง วินัยและการลงโทษทางวินัย
ของข้าราชการอัยการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑๙ วรรคสี่ และมาตรา ๒๒๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วยโดยอนุโลม
องค์กรบริหารงานบุคคลของข้าราชการอัยการต้องเป็นอิสระ ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุด ผู้แทนของข้าราชการอัยการซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากข้าราชการอัยการแต่ละชั้นในสัดส่วนที่เหมาะสม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า
หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการอัยการทั้งหมด เป็นกรรมการ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหก ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ข้าราชการอัยการต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ
ในทำนองเดียวกัน หรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด
ในลักษณะเดียวกัน ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือน
ถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการอัยการ
สำนักงานอัยการสูงสุดมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ




ส่วนที่ ๒
ศาลรัฐธรรมนูญ
------------
มาตรา ๒๒๙  ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสองคน
(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสองคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวนสามคน โดยต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างน้อยหนึ่งคน
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารภาครัฐหรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ จำนวนสองคน
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๓๐  ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๙ (๓) และ (๔)
คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสองคน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่
ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสองคน
(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล หนึ่งคน
และเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน หนึ่งคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการหรือคณบดี

กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง จะเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ และให้กรรมการดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา
ในกรณีที่ไม่อาจสรรหากรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้
ไม่ว่าด้วยเหตุใด  หากกรรมการสรรหาที่สรรหามาได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีกรรมการที่มาจากประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่าสี่ประเภท ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่  แต่หากสรรหากรรมการสรรหาได้น้อยกว่านั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน เป็นกรรมการสรรหา  และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวเลือกผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนเพื่อเป็นประธานกรรมการสรรหา  และให้บุคคลดังกล่าวเป็นคณะกรรมการสรรหาแทน
มาตรา ๒๓๑  ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๙ (๓) และ (๔) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกนั้นพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา  มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่กรรมการในตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวน
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่
ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ  การลงมติให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ  ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป  ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบในชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว
มาตรา ๒๓๒  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์
ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาครบสามปีแล้ว พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือก
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแทน
ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้า
รับหน้าที่
ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย
มาตรา ๒๓๓  คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ การกระทำอันเป็นการต้องห้ามในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ  โดยอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
มาแล้ว เข้ารับการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
มาตรา ๒๓๔  ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของ
ศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
มาตรา ๒๓๕  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อ
ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว  ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติ
ไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๓๖  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือคณะกรรมการสรรหาองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้  ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
มาตรา ๒๓๗  องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคน
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก  เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐทุกองค์กร  และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว  ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนที่ ๓
  ศาลยุติธรรม
  ------------
มาตรา ๒๓๘  ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือ
กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
มาตรา ๒๓๙  ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติ
ไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
มาตรา ๒๔๐  ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และให้เลือกเป็นรายคดี
อำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การอุทธรณ์คำพิพากษา
และวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๒๔๑  ให้ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีดังต่อไปนี้
(๑) คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์  และคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลใดให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคนั้น แล้วแต่กรณี
(๒) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจ
ยื่นบัญชีดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้
ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษา  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) คดีชำนัญพิเศษให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
วิธีพิจารณาและการพิพากษาคดีตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว

ส่วนที่ ๔
ศาลปกครอง
------------
มาตรา ๒๔๒  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจ
ทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมทั้งคดีอันเนื่องมาจากการบริหารและการบริหารงานบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  ตลอดจนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของ
ศาลปกครอง
อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ให้มีศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้
มาตรา ๒๔๓  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดิน อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้  การแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ให้แต่งตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แล้วจึง
นำความกราบบังคมทูล
การคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติ  โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน
แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล  ในการนี้ ให้แต่งตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด
มาตรา ๒๔๔  ให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด
องค์คณะ อำนาจหน้าที่ การฟ้องคดีและวิธีพิจารณาของศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ส่วนที่ ๕
 ศาลทหาร
 ------------
มาตรา ๒๔๕  ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด ๒
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
------------
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
------------
มาตรา ๒๔๖  การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมทั้งต้องกระทำโดยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๒๔๗  ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือองค์กรตรวจสอบอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๑) นายกรัฐมนตรี
(๒) รัฐมนตรี
(๓) กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
(๔) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๕) สมาชิกวุฒิสภา
(๖) ข้าราชการการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น
(๗) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๘) เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
เอกสารที่ต้องยื่นตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วยบัญชีที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องของคู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคหนึ่ง  รวมทั้งผู้ซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้มอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กรรมการ
ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว  แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว
บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาล ผู้มีส่วนได้เสีย หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนที่ ๒
การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
------------
มาตรา ๒๔๘  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกัน
แห่งผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยอย่างน้อยต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่
(๒) ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่
ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น
(๓) ไม่ใช้เวลาราชการหรือของหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือข้อมูลภายในของทางราชการหรือหน่วยงาน ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น  เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ
(๔) ไม่กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใด ในฐานะส่วนตัว ที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่
มาตรา ๒๔๙  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้อง
(๑) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้
มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น
(๓) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะ
เป็นการผูกขาด หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญา
ในลักษณะดังกล่าว  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(๔) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยงานดังกล่าวปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ
(๕) ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ วรรคหก
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน  และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ให้นำความใน (๓) (๔) และ (๕) มาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และบุคคลอื่นซึ่งดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย
มาตรา ๒๕๐  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป  ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่
วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคหนึ่ง มิได้
บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแทนตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ด้วย
มาตรา ๒๕๑  นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๒) การบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๓) การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่ง
(๔) การแต่งตั้งและการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
พ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลง
ต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ  และต้องป้องกันหรือกำกับดูแลไม่ให้คู่สมรสและบุตรของตน รวมทั้งบุคคลใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ กระทำการดังกล่าวด้วย
มาตรา ๒๕๒  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่กระทำการตามมาตรา ๒๔๙ (๒) (๓) (๔) และ (๕) วรรคสอง วรรคสาม และมาตรา ๒๕๑
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับแต่งตั้ง
ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในราชการของฝ่ายนิติบัญญัติ


ส่วนที่ ๓
การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น
------------
มาตรา ๒๕๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๗๔ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิด
ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รัฐสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
(๒) ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
มาตรา ๒๕๔  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๕๓ ออกจากตำแหน่งได้  คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน
สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งได้
พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๕๓ ออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา ๗๒
เมื่อได้รับคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้ว ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อประธานรัฐสภา โดยในรายงานดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดมีมูลหรือไม่ เพียงใด
มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อได้อย่างไร
ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  แต่ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป

เมื่อได้รับรายงานตามวรรคห้าแล้ว ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว  ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานให้นอกสมัยประชุม ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สมาชิกรัฐสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ  มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา  และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง คะแนนเสียง และผลของการลงคะแนนเสียงตาม มาตรา ๗๔ วรรคห้าและวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๕๕  การร้องขอ การพิจารณาและไต่สวนคำร้องขอ ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าคำร้องขอมีมูล รวมทั้งผลของการออกเสียงลงคะแนนและการมีมติของรัฐสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ระยะเวลาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและรัฐสภาต้องใช้ในการพิจารณาและมีมติ
(๒) การให้บุคคลตามมาตรา ๒๕๓ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ไปจนถึงเวลาที่รัฐสภามีมติ
(๓) การให้มีคณะกรรมการสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่น ซึ่งมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การจัดทำและการส่งชื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา ๒๕๓ และมาตรา ๗๔ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก  หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงลงคะแนน รวมทั้งการประสานงานระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและหน่วยงานในการจัดให้มีการลงคะแนน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ส่วนที่ ๔
การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
------------
มาตรา ๒๕๖  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๒๕๗  ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจาก
ผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขึ้นคนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ไต่สวน
หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการแล้วเห็นว่าเรื่องที่ไต่สวนนั้นมีมูล ให้ผู้ไต่สวนอิสระส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๕๓ และยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ  รวมทั้งการยื่นคำร้อง การดำเนินการไต่สวน การยื่นฟ้องคดีต่อศาล และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง  ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๒๕๘  ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือของผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร


ส่วนที่ ๕
องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
------------
ตอนที่ ๑
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
------------
มาตรา ๒๕๙  คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย กรรมการห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ให้ผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ
การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๖๐  การสรรหากรรมการการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนสองคน
(๒) ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง สรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนสามคน
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มติในการสรรหาตาม (๒) ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๒๖๑  คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖๐ (๒) ประกอบด้วยกรรมการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสองคน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่
ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสองคน
(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ซึ่งเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลหนึ่งคน
และเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านสองคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเลือกโดยคณะรัฐมนตรี
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา

(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง มิได้
ในกรณีที่ไม่อาจสรรหากรรมการสรรหาให้ครบตามวรรคหนึ่งได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด  หากกรรมการสรรหาที่สรรหามาได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีกรรมการที่มาจากประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่าสี่ประเภท ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๒๖๒  ให้ดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖๐ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว  แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกนั้นพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่
ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้ไม่อาจดำเนินการสรรหาได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจสรรหาได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาแทนจนครบจำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่
ครบกำหนดดังกล่าว
ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐
ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  แต่ถ้าวุฒิสภา
ไม่เห็นชอบในชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งหรือ
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่
มาตรา ๒๖๓  กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
กรรมการการเลือกตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระของกรรมการการเลือกตั้ง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้
สรรหาจากผู้ซึ่งไม่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
มาตรา ๒๖๔  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวน
ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๐  และให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง เพื่อให้
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยไปยังประธานรัฐสภาและประธานกรรมการการเลือกตั้ง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๑ มาใช้บังคับกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๒๖๕  ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งคณะ ให้ดำเนินการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว  และให้ผู้ได้รับความเห็นชอบ
อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๒๖๖  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และควบคุมการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง
มาตรา ๒๖๗  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา ๒๖๖ วรรคสอง รวมทั้งวางระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง
กลุ่มการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาค และมีโอกาสทัดเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๘๔ โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
(๓) กำหนดมาตรการและการควบคุมการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง การสนับสนุนทางการเงินโดยรัฐ การใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง  รวมทั้งการตรวจสอบบัญชีทางการเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองโดยเปิดเผย และการควบคุมการจ่ายเงินหรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง
(๔) มีคำสั่งให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์
ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๕) มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องหรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากพื้นที่ชั่วคราว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๖) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๒๖๖  หรือเมื่อมีกรณีที่มีการคัดค้านหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(๗) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น
หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภานั้น มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๘) ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และผลการออกเสียงประชามติ
(๙) ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการ ใช้ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือกฎหมายอื่น ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๑๐) ควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ หรือสั่งให้มีการจัดการออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือทุกหน่วย เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงประชามติในหน่วยนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๑๑) ส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การพลเมืองศึกษา และการศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง
(๑๒) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบ
เป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๖๘  ให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ประกอบด้วย  ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งจากข้าราชการ
ในแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานละหนึ่งคน ทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นและดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  โดยในเรื่องของอำนาจหน้าที่นั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นบุคลากรในภาครัฐรวมอยู่ด้วย
ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินการจัดการเลือกตั้งหรือดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการสอบสวนทางวินัยผู้นั้น  ถ้าผลการสอบสวนปรากฏว่ามีมูลความผิดทางวินัย และคณะกรรมการ
การเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วมีมติว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดทางวินัย ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งส่งรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิด
ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก  ในการพิจารณาโทษ
ทางวินัย ให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานหรือองค์กรที่ผู้นั้นสังกัด แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
มาตรา ๒๖๙  ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ประกาศให้มีการเลือกหรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติ มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้งไปทำการสอบสวน  เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
ในกรณีที่มีการจับกรรมการการเลือกตั้งในขณะกระทำความผิด หรือจับ หรือคุมขังกรรมการ
การเลือกตั้งในกรณีอื่น ให้รายงานไปยังประธานกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน และประธานกรรมการการเลือกตั้งอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้  แต่ถ้าประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ถูกจับหรือคุมขัง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่มีอยู่เป็นผู้ดำเนินการ



ตอนที่ ๒
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
------------
มาตรา ๒๗๐  การตรวจเงินแผ่นดินให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วย กรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความชำนาญและประสบการณ์ด้าน
การตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่น
ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่  คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ (๒) วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๖๑ และมาตรา ๒๖๒  วาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง  และการสรรหา
ผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วย โดยอนุโลม  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การตรวจเงินแผ่นดิน
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ



ตอนที่ ๓
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
------------
มาตรา ๒๗๑  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่  คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ (๒) วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๖๑ และมาตรา ๒๖๒  การดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคสองและวรรคสาม  และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕   มาใช้บังคับกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วย โดยอนุโลม  แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๗๒  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน
วุฒิสภาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
มติของวุฒิสภาให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง
ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
มาตรา ๒๗๓  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา มีจำนวน
ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนก

คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ถูกกล่าวหา จะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคำร้องนั้นไว้พิจารณา มิได้ จนกว่าจะมี
คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว
ในกรณีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามวรรคสอง
และมีกรรมการเหลืออยู่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน
ศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๗๑  ทำหน้าที่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นการชั่วคราว
โดยให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่ากรรมการที่ตนดำรงตำแหน่งแทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าผู้นั้นกระทำความผิด
มาตรา ๒๗๔  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเสนอต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๕๔
(๒) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๖
(๓) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  รวมทั้งไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๔) ตรวจสอบความถูกต้อง ความมีอยู่จริง และความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของ
ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ตลอดจนไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ
(๕) ฟ้องคดีต่อศาลปกครองในคดีที่เกี่ยวกับวินัยการคลังและงบประมาณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า
ด้วยการคลังและการงบประมาณ
(๖) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภา ทุกปี และเผยแพร่รายงานดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไปด้วย
(๗) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ตอนที่ ๔
ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
------------
มาตรา ๒๗๕  ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีจำนวนสิบเอ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์  ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้วย
ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่  วาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง  และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕  มาใช้บังคับกับผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วย โดยอนุโลม  แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่ง  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนทราบ และประกาศผล
การประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๗๖  ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีอำนาจและหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน  และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการแก้ไข
(๒) พิจารณาและสอบหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่ปรากฏว่า
(ก) เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
(ข) เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน
หรือประชาชน หรือไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม

(ค) องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล
(๓) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
(๔) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด กระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือกฎ คำสั่ง หรือการกระทำของบุคคลตาม (๒) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
(๕) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม หรือเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
(๖) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน
(๗) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
(๘) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์การเอกชน และองค์การ
อื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
(๙) รายงานต่อรัฐสภาเมื่อปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเสนอ และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไปด้วย  ในการนี้ ให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
(๑๐) เสนอรายงานประจำปีพร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และ
เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป
(๑๑) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแต่ละคนในการดำเนินการตามมาตรานี้ให้ชัดเจน  รวมทั้งกรณีใดที่ต้องเป็นมติร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน




ภาค ๔
การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง
------------
หมวด ๑
บททั่วไป
------------
มาตรา ๒๗๗  บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๗๘  ความในภาคนี้ให้สิ้นผลบังคับในวันถัดจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ครบห้าปี
เว้นแต่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน รัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีเสนอให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
โดยเสียงข้างมากออกเสียงประชามติเห็นชอบ  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ



หมวด ๒
การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
------------
ส่วนที่ ๑
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
------------
มาตรา ๒๗๙  เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล ให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบและที่มา ดังต่อไปนี้
(๑) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
(ก) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จำนวนหกสิบคน
(ข) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จำนวนสามสิบคน
(ค) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ จำนวนสามสิบคน
(๒) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาและมาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่เกินสิบห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกตาม วรรคหนึ่ง (๑) และกรรมการ
ตาม (๒) อำนาจหน้าที่อื่น การดำเนินงาน รวมทั้งการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในหมวดนี้  ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่นซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้กระทำได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติโดยความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๒) นำแผนและขั้นตอนการออกกฎหมายและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งแผนงานและยุทธศาสตร์การปฏิรูปของทุกภาคส่วนมาบูรณาการเพื่อให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง
(๓) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป
(๔) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยกระบวนการสมัชชาเพื่อการปฏิรูป
(๕) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิรูปที่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอตามวรรคสี่ (๑) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างเพียงพอ  ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอใดได้ให้ชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อทราบ  ในกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าการปฏิรูปเรื่องใดที่คณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ
ว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนั้นหรือไม่  ผลการออกเสียงประชามติดังกล่าวให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ต้องปฏิบัติตาม
ให้มีหน่วยธุรการของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
มาตรา ๒๘๐  ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๗๙ วรรคสี่ (๑) หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนั้นเสนอต่อรัฐสภาโดยให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน  เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอแล้ว หากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป  แต่หากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ ให้วุฒิสภาเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อสภาผู้แทนราษฎร  และให้นำความในส่วนที่ ๖ การตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ ๗ การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวโดยต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งเสร็จแล้ว
(๑) ถ้าเห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป
(๒) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังวุฒิสภา  หากวุฒิสภาลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามวรรคหนึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอวุฒิสภาได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้คำรับรองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่แจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง

ส่วนที่ ๒
การปฏิรูปด้านต่างๆ
------------
มาตรา ๒๘๑  ให้ดำเนินการตามแผนและขั้นตอนการปฏิรูป การตรากฎหมาย และการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบไว้ และโดยเฉพาะให้ดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้
มาตรา ๒๘๒  ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายและกฎโดยง่าย ให้ตรากฎหมายว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมและปรับปรุงกฎหมายและกฎในเรื่องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและทันสมัยขึ้นเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
(๒) เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ให้ตรากฎหมายว่าด้วย
การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี โดยมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำทางกฎหมายที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง  จัดทนายความที่มีความสามารถทางคดีอย่างแท้จริงเพื่อดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย  รวมทั้งจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีขึ้นเพื่อการดังกล่าว โดยสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
(๓) ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีหน้าที่และอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎ แล้วแต่กรณี ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น
(๔) ปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดเรื่องการออกใบอนุญาตที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด ให้สัมปทาน หรือให้สิทธิในการประกอบกิจการ โดยให้ใช้วิธีประมูลโดยเปิดเผยเป็นหลัก เว้นแต่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่นได้โดยต้องประกาศเหตุผลให้ทราบเป็นการทั่วไป  ใบอนุญาตใดที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้แล้วโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจออกใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความจำเป็นของการมีใบอนุญาตนั้นต่อรัฐสภาทุกห้าปี
(๕) ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางเลือก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมทั้งการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชนโดยกระบวนการยุติธรรมชุมชนหรือการประนีประนอมข้อพิพาทระดับชุมชน เพื่อให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับกลไกและกระบวนการในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
(๖) ให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพในสังกัดศาลยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ  รวมทั้งให้มีมาตรการและกลไกในการบังคับคดีปกครองที่มีประสิทธิภาพตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองด้วย
(๗) ให้จัดการศึกษาอบรมเพื่อปลูกฝังให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ยกย่องผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา และลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งละเลยไม่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจัง

(๘) ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในกระบวนการยุติธรรม กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่ระดับจังหวัดและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการตำรวจ ปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอมีอำนาจสอบสวนร่วมกับหน่วยงานด้านการสอบสวนในกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีระบบบริหารงานบุคคลที่ยึดหลักความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และจัดสรรและกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เพียงพอและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๒๘๓  ให้มีการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร ตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) จัดระบบภาษีเป็นสองระดับ คือ  ระดับชาติและระดับท้องถิ่น และดำเนินการให้องค์กรบริหาร
ท้องถิ่นมีรายได้ที่จำเป็นแก่การใช้จ่ายของท้องถิ่น และมีระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๒) ให้มีกฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องแสดงรายได้ของตนต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รัฐจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ และให้ผู้ซึ่งได้เสียภาษี มีสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
(๓) ปรับปรุงระบบภาษีให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นกลาง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยการพิจารณายกเลิกมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด
(๔) จัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญให้ดำรงชีพได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน
ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปการเงิน การคลัง และภาษีอากรที่เป็นอิสระภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีอำนาจ
หน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายการเงิน การคลัง และภาษีอากร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มฐานภาษีประเภทต่าง ๆ และอำนาจหน้าที่อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๔  ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๒) กำหนดขอบเขตภารกิจอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะกลุ่มภารกิจ การบริหารราชการภาคและพื้นที่อื่น ให้ชัดเจนและสัมพันธ์กันแบบบูรณาการ โดยยึดการมีส่วนร่วมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก

(๓) สร้างระบบและกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเน้นการให้บริการผ่านระบบสารสนเทศ
(๔) ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำอยู่เพื่อลดและขจัดความซ้ำซ้อนระหว่างกัน  ภารกิจและบริการสาธารณะใดที่อาจให้องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นจัดทำได้โดยมีคุณภาพและมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่าที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ และมีราคาที่ไม่สูงเกินสมควร หน่วยงานของรัฐต้องยุติการดำเนินการและถ่ายโอนภารกิจและบริการนั้นให้องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการ
(๕) ให้มีองค์กรบริหารการพัฒนาภาคทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภาคและกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณแบบพื้นที่เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น ประสานการพัฒนาพื้นที่บริหารงานระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืนของการพัฒนาในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๖) ให้มีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เทียบเคียง ค่าตอบแทน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอื่นทุกประเภทของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุก
ประเภทและทุกระดับ กับค่าตอบแทนในภาคเอกชน และแจ้งให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบ แล้วประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปทุกระยะ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๕  ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารท้องถิ่นตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) ตรากฎหมายและจัดให้มีกลไกที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดให้เสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสมโดยเร็ว
(๒) ให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากสมัชชาพลเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐานกลาง และขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอย่างมีเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ รับผิดชอบงานธุรการและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่จำเป็น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๖  ให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้
(๑) กระจายอำนาจการจัดการศึกษาโดยลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้จัดให้มีการศึกษา  ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา  และส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีอิสระ มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา  ทั้งนี้ โดยให้เอกชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมด้วย
(๒) จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้เรียนทุกคนอย่างพอเพียงตามความจำเป็นและเหมาะสมของผู้เรียน สำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยม ทั้งการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ

(๓) ปรับปรุงระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยยกระดับความรู้ให้กับผู้เลี้ยงดูให้มีสมรรถนะและสัมพันธภาพที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูเด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้เกิดพัฒนาการที่สมบูรณ์ มีความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ทุกมิติทั้งด้านกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
(๔) ปรับปรุงการอาชีวศึกษาไปสู่ระบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตที่มีทักษะ มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพตรงตามความต้องการและสาขาที่ขาดแคลน
(๕) ปรับปรุงระบบอุดมศึกษาให้การจัดการเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศและเสริมสร้างสมรรถนะด้านวิชาการเพื่อรับใช้สังคม
(๖) พัฒนาระบบการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับการศึกษาด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และพลเมืองศึกษา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของคนไทยทุกระดับ รวมทั้งเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และสามารถสร้างสังคมแห่งปัญญา
(๗) ปรับปรุงระบบการผลิต การพัฒนา และการประเมินครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยอาศัยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน  ทั้งนี้ การผลิตต้องเน้นคุณลักษณะและสมรรถนะที่มีความเหมาะสมกับแต่ละระดับการศึกษา
(๘) พัฒนาระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบความโปร่งใสของการบริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับ
(๙) ปรับระบบการทดสอบและประเมินผลการศึกษา ให้เป็นการทดสอบการเรียนรู้ ความถนัด และคุณลักษณะผู้เรียนที่ครบทุกมิติเพื่อพัฒนาผู้เรียน  ส่วนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและรับรองคุณภาพ
(๑๐) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาและพัฒนามนุษย์ และเอื้ออำนวยให้การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์บรรลุผล
(๑๑) ปรับปรุงให้สภาวิชาชีพมีอำนาจเฉพาะในการรับรองหลักสูตรที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา
(๑๒) ให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายการศึกษา โดยมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา และการให้ประชาชน ชุมชน องค์การภาคเอกชน และองค์การเอกชน มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการบริหารการศึกษา  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้
เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาตามมาตรานี้สามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็วและต่อเนื่อง ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติซึ่งอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้านตลอดชีวิต กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ กลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ตลอดจนจัดทำและปรับปรุงบรรดากฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาของทุก
หน่วยงานที่จัดการศึกษา
องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๗  ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง
โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หลักการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิรูประบบและโครงสร้าง องค์กร และกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประมวลกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ ตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล การจัดการขยะและของเสียอันตราย และกฎหมายด้านสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการพัฒนาเมือง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๒) ปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาระบบและโครงสร้างการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การจัดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการจัดเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ในทะเล รวมทั้งการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้ในการกำหนดนโยบาย แผน และการพัฒนาพื้นที่
การจัดทำระบบบัญชีรายได้ประชาชาติที่คิดรวมต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดระบบภาษีสิ่งแวดล้อม การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ และการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จำเป็น
(๓) พัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบการคำนวณต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการเยียวยาความเสียหาย องค์กรและสถาบันเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบังคับคดีด้านสิ่งแวดล้อม
(๔) ปรับปรุงกลไกและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
มาตรา ๒๘๘  ให้มีการปฏิรูปด้านพลังงานตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) บริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ให้ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นเป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน และดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น
(๒) ปรับปรุงให้การสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมหรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบ
ต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน

(๓) ดำเนินการให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึง และเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผนนั้น
มาตรา ๒๘๙  ให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) ตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน
และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
(๒) สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มาตรา ๒๙๐  ให้มีการปฏิรูปด้านวัฒนธรรมภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมในการวางแผนแม่บทและบริหารจัดการของประชาชน และหลักการรักษาดุลยภาพระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งมาจากภาคประชาสังคมตามความพร้อมในแต่ละพื้นที่ เพื่อปกป้อง ฟื้นฟู สืบสาน ส่งเสริม และพัฒนา งานด้านศิลปวัฒนธรรมตามความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยให้มีความเป็นอิสระและประสานงานกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
(๒) จัดตั้งกองทุนทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นกองทุนภาคประชาสังคมเพื่อสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรม
(๓) องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องสนับสนุนงบประมาณและการจัดการที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มาตรา ๒๙๑  ให้มีการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ปรับปรุงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนมีตรรกะและมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทาง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีมาตรการจูงใจให้นักวิทยาศาสตร์ไทยที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
(๒) ลงทุนด้านการศึกษา วิจัย การสร้างนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างเพียงพอ และมีมาตรการจูงใจทางภาษีและทางอื่นเพื่อให้เอกชนดำเนินการดังกล่าวเองหรือร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนมีมาตรการช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อนำมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและทันต่อสภาพโลกาภิวัตน์
(๓) สร้างฐานข้อมูลการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำผลการศึกษาวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นไปใช้ในกระบวนการผลิตและการให้บริการ
(๔) จัดให้มีและพัฒนากลไกในการคุ้มครอง แบ่งปัน และการนำผลงานการประดิษฐ์ คิดค้น และการสร้างสรรค์ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

(๕) สนับสนุนหรือลงทุนให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการโดยให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมรรถนะและความสามารถของท้องถิ่นและชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้
เพื่อให้การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรานี้เป็นไปอย่างมีระบบและรวดเร็ว ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่ปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนเพื่อการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนจัดทำ ปรับปรุง และแก้ไขบรรดากฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๙๒  ให้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมหภาคตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกัน ลด จำกัดหรือขจัดการผูกขาด และการกีดกันการแข่งขัน อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ธุรกิจมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง และระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน รวมทั้งป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด  ในกรณีที่รัฐจำเป็นต้องทำการผูกขาดในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ รัฐต้องกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
(๒) บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ทบทวนความจำเป็นในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง และความมีประสิทธิภาพ โดยต้องกำหนดเป้าหมายการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอย่างชัดเจน และยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้ได้ระดับสากล
กำหนดบทบาทและภารกิจของหน่วยงานของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน  โดยแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจรายสาขาเศรษฐกิจ กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนรัฐ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและป้องกันมิให้มีการแทรกแซงทางการเมือง และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนหรือขาดประสิทธิภาพ  โดยจัดให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อรับผิดชอบในการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจดังกล่าว
(๓) ดำเนินการให้ประชาชนและองค์กรชุมชนมีความเท่าเทียมในเชิงโอกาส มีความรู้พื้นฐานทางการเงิน เข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานในรูปแบบของกองทุนการออมชุมชน สหกรณ์ชุมชน ระบบธนาคาร ตลาดทุน หรือรูปแบบอื่น รวมทั้งเข้าถึงสาธารณูปโภคสำคัญด้านต่าง ๆ
(๔) จัดสรรงบประมาณพัฒนาพิเศษเพิ่มเติมตามความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่ยากจนและกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
(๕) สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีอากรและมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม

(๖) ปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและการส่งเสริมการสหกรณ์ โดยยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสหกรณ์เพื่อการออมทรัพย์ให้เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงและมีธรรมาภิบาล และยกระดับมาตรฐานสหกรณ์ประเภทอื่นเพื่อส่งเสริมการรวมตัวและความเข้มแข็งของสมาชิกโดยยึดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสทางสังคม ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบนโยบาย เป้าหมายในการขจัดความยากจน ลดระดับความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่ชัดเจน รับผิดชอบในการประสานงานและประเมินผลการดำเนินงาน และอำนาจหน้าที่อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๙๓  รัฐต้องดำเนินการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจรายภาคตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาภาคการเกษตรและเกษตรกร กำหนดเขตการใช้พื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร ระบบการแปรรูปสินค้าและนวัตกรรมทางการเกษตร โดยผสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัยและการพัฒนา เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้มีความรู้และมีความมั่นคงทางรายได้ และให้ประเทศไทยเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารและเป็นศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรและอาหารล่วงหน้าในภูมิภาคเอเชีย
(๒) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดหา จัดรูป และบริหารจัดการที่ดินของรัฐและของเอกชนที่ไม่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อให้เกษตรกรและชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกิน รวมทั้งรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยใช้มาตรการในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน การให้สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือมาตรการอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการประสานกันอย่างเป็นระบบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดิน
(๓) คุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการผูกขาดทางการเกษตร ระบบเกษตรพันธสัญญา และการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และตรากฎหมายเพื่อ
จัดระเบียบเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
(๔) สร้างระบบประกันความเสี่ยงแก่เกษตรกรกรณีเกิดความเสี่ยงทางการผลิตหรือการตลาด
(๕) ส่งเสริมการพัฒนาและขยายพื้นที่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีสัดส่วนพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมไทย  โดยให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และให้องค์กรเกษตรกรและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน  ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่และเสริมหนุนกับภาครัฐ  ควบคุมการโฆษณาการใช้สารเคมีการเกษตรและส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ เพื่อลดการใช้สารเคมีการเกษตรที่เกินความจำเป็น ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
(๖) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประเทศและกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน และบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งด้านแผนงานและงบประมาณ

(๗) ปฏิรูปเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ปฏิรูประบบการขนส่ง รวมทั้งเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบและทุกระดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งสร้างกลไกในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปฏิรูปดังกล่าว
(๘) สร้างและพัฒนาสังคมผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการลงทุน สร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ใช้นวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
(๙) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการ
สร้างโอกาส การให้ข้อมูล จัดให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการคุ้มครองอื่น ธนาคารเพื่อการลงทุน และการอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๒๙๔  ให้มีการปฏิรูปด้านสาธารณสุขตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) เร่งพัฒนาระบบสุขภาพที่ให้ความสำคัญต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เน้นพื้นที่เป็นฐานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและภัยคุกคามต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของสังคมไทย ทั้งนี้ โดยให้ชุมชนและองค์กรบริหารท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
(๒) ปฏิรูปการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพรวมถึงการเงินการคลังของกองทุนสุขภาพให้มีลักษณะและมาตรฐานใกล้เคียงกัน มีความเสมอภาคและเป็นธรรม เพียงพอและยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการอภิบาลระบบ โดยคำนึงถึงความทั่วถึง ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพื่อดูแลภาพรวมและความยั่งยืนทางการคลังให้เกิดนโยบายการดำเนินการที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในการให้บริการสาธารณสุข
(๓) ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีข้อมูลพื้นฐานในการดูแลสุขภาพตนเอง
(๔) ให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ
(๕) ปฏิรูประบบการผลิตและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปสู่ชนบท โดยส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผ่านสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน
มาตรา ๒๙๕  ให้มีการปฏิรูปด้านสังคมตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิรูปกฎหมาย กฎ และกติกาต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสิทธิที่จะดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทุนชุมชนต่าง ๆ จัดทำบริการสาธารณะและจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่น องค์การภาคเอกชน และองค์การเอกชน

(๒) ปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ทั้งด้านการให้บริการสังคม การประกันสังคมทุกกลุ่มวัย การช่วยเหลือทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม ที่มีความครอบคลุม เพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเน้นครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน  สร้างระบบส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคมและผู้มีจิตอาสาในการดำเนินการดังกล่าว พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชายขอบ รวมทั้งอารยสถาปัตย์และระบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
(๓) รัฐ หน่วยงานของรัฐ องค์กรบริหารท้องถิ่น และศาสนสถาน ต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์ทางสังคม กิจกรรมนันทนาการ และกีฬา
(๔) จัดทำแผนระยะยาวและดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา และการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุที่เหมาะสมของประชาชน การปรับปรุงระบบการเกษียณอายุที่เหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพเพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม ระบบการดูแลระยะยาว และการใช้ทุนทางปัญญาของผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเครือข่ายที่เข้มแข็ง และจัดให้มีระบบ กลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว
(๕) ให้หลักประกันด้านความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะความปลอดภัยของอาหาร และจัดให้มีระบบหรือกลไกคุ้มครองผู้บริโภคตามหลักการป้องกันล่วงหน้า เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายหรือลดผลกระทบจากกรณีที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า และต้องจัดให้มีกองทุนเพื่อชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย
ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปสังคมและชุมชนขึ้นคณะหนึ่งภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มีหน้าที่ศึกษาและจัดทำแนวทาง ข้อเสนอแนะ และกฎหมายต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน รวมทั้งมีหน้าที่ติดตาม กำกับ และสนับสนุนการปฏิรูปด้านสังคมให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง  ทั้งนี้ โดยมีองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๙๖  ให้มีการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีมาตรฐาน มีคุณภาพสูงสุด และเป็นที่เชื่อถือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
(๑) มีกลไกส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ เร่งพัฒนากลไกที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำและแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและทุน เพื่อให้การแสวงหาข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน
(๒) เร่งพัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลสื่อสารมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรม การกำกับดูแลโดยภาคประชาชน และการกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมาย  มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชน ผู้ใช้ และผู้บริโภคให้รู้เท่าทันสื่อ มีความตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบ และตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมือง

(๓) มีกลไกการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีสื่อทางเลือก สื่อชุมชน สื่อสันติภาพ ตลอดจนส่งเสริมและอุดหนุนการสร้างสรรค์รวมทั้งการผลิตและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะ


หมวด ๓
การสร้างความปรองดอง
------------
มาตรา ๒๙๗  เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความรักสามัคคี และความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพและสันติสุขอย่างยั่งยืน ให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ  ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกินสิบห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำในความขัดแย้ง
ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยธุรการ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
มาตรา ๒๙๘  คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้งในประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา  ทั้งนี้ โดยพิจารณารายงานหรือผลการศึกษาที่องค์กรต่างๆ
จัดทำขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๒) เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ  ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน  และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ ให้มีกระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้น
(๓) เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำในความขัดแย้งทุกกลุ่มเพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน
(๔) รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน
และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ  ทั้งนี้ โดยจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด ไม่ได้
เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ
(๕) ให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ
(๖) เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
แก่การดำเนินงาน และผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติแล้ว
(๗) ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง
รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง  ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคมรำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก

(๘) ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม และเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการดังกล่าวต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อเสนอต่อรัฐสภา
(๙) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ
คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐ ต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ




บทสุดท้าย
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
------------
มาตรา ๒๙๙  การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้
มาตรา ๓๐๐  การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบททั่วไป ภาค ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา ๓๐๒
หลักการพื้นฐานสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายถึง
(๑) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมือง
(๒) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
(๓) กลไกเพื่อการรักษาวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ
(๔) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค ๓ หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
(๕) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง
(๖) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้ายนี้
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของพลเมืองทางการเมือง หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรานี้
มาตรา ๓๐๑  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณา
ในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์
ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ตราขึ้นโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้หรือมีข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๙๙ หรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรา ๓๐๐ หรือไม่ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง  ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตราขึ้นโดย
ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๙๙ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป  แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรา ๓๐๐ ให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๓๐๒ ต่อไป
(๘) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๖ และมาตรา ๑๕๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม  แต่มติยืนยันต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
มาตรา ๓๐๒  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๐๐ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา ๓๐๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗)  แล้วให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ในกรณีที่พลเมืองผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ  ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป  แต่ถ้าพลเมืองผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๓๐๓  ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละหนึ่งคน ประกอบกันเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระตามวรรคหนึ่งเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย




บทเฉพาะกาล
------------
มาตรา ๓๐๔  ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๐๕  ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ทำหน้าที่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า
จะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๖
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ถ้าบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้ ประธาน
สภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในวาระเริ่มแรก หากปรากฏว่าเมื่อต้องมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๖ แล้ว แต่ยัง
ไม่มีวุฒิสภา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่วุฒิสภาต่อไป  เว้นแต่การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งและ
การถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าจะมีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกิจการใดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการในระหว่างเวลาดังกล่าว ให้มีผลเป็นการดำเนินการของวุฒิสภา  และในกรณีที่บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕  มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙  บทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภาตามมาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๓ มาตรา ๑๒๔  บทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๐๖ มาตรา ๒๑๙ วรรคสาม มาตรา ๒๔๗ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๒ มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐๖  เพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและสิ้นสุดลงในวันเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
ตามมาตรา ๑๓๖
เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๓๐๗  ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้ แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา  โดยมิให้นำ
บทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินตามมาตรา ๑๔๗ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๐ มาใช้บังคับ  ในกรณีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ดังนี้
(๑) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
(๒) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๙ (๒) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๒) ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
(๓) ร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้และได้ยกร่างและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยในคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นต้องประกอบด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ไม่น้อยกว่าสองคนเป็นกรรมาธิการด้วย
เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒) แล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๖๓
ในกรณีที่พ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่แล้วเสร็จ ให้ถือเสมือนว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ และให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ
ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในเจ็ดวันเพื่อพิจารณา และให้นำความในมาตรา ๑๖๓ มาใช้บังคับ  แล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ โดยพลัน
(๒) ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยพลันเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ในระหว่างที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ
การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามวรรคหนึ่ง (๑) ยังไม่มีผลใช้บังคับ
ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิก
วุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติใดแล้ว ให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป  ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป  ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยในคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามเป็นกรรมการ
มาตรา ๓๐๘  ในวาระเริ่มแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๑) ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน  ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๐๗ วรรคหนึ่ง (๑) มีผลใช้บังคับ  โดยให้คณะกรรมการ
การเลือกตั้งทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ แทนคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖๘
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ผู้มีสิทธิ
สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวหรือกลุ่มการเมืองเดียวไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง  เว้นแต่เป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นสมาชิกน้อยกว่าสามสิบวันก็ได้
(๒) ให้คณะบุคคลซึ่งประสงค์จะจัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ ไปแจ้งเป็นกลุ่มการเมืองต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งต้องรับแจ้งโดยเร็ว และเมื่อได้แจ้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งบุคคลผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองนั้น เข้าสมัครรับเลือกตั้งได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๓) มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๔ (๕) และมาตรา ๑๒๕ วรรคสอง มาใช้บังคับกับผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
(๔) เมื่อครบสามปีนับแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพ ให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๒๑ (๑) (๒) และ (๓) ทั้งหมดพ้นจากสมาชิกภาพ และให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๒๑ (๔) จำนวนกึ่งหนึ่ง พ้นจากสมาชิกภาพโดยการจับสลาก  และมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๔ (๕) และมาตรา ๑๒๕ วรรคสอง  รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งและการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระตามมาตรา ๑๒๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาคราวถัดไปหลังจากที่บุคคลดังกล่าวสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรานี้  โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่ง
ที่ว่างลงด้วยเหตุดังกล่าว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

ราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวนั้นว่างลง
มาตรา ๓๐๙  ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่
ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย
มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๒  คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๕  และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๘๕ (๔) (๗) และ (๘) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาตามมาตรา ๑๗๔ มาใช้บังคับกับรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๑๐  ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  และให้ดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างให้เป็นไปตามมาตรา ๒๒๙ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ
และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับและคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่แล้ว  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓๐ และมาตรา ๒๓๑
บรรดาคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ดำเนินการต่อไป แต่ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามมาตรา ๓๐๗ วรรคหนึ่ง (๒)
ให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  และให้ดำเนินการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างให้เป็นไปตามมาตรา ๒๗๑ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีผลใช้บังคับ และ

คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่แล้ว  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๑
ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง  และมิให้นำบทบัญญัติที่บัญญัติให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวตามมาตรา ๒๗๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวในการแต่งตั้งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
ให้บุคคลตามมาตรานี้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นใช้บังคับ  เว้นแต่บทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้แทน
ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
มาตรา ๓๑๑  ให้ดำเนินการรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เข้าด้วยกันเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
(๒) ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้
คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีผลใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่แล้ว
(๓) ให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนส่วนที่ยังขาดอยู่เพื่อให้ครบจำนวนตามมาตรา ๒๗๕ ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกับการสรรหาตาม (๒) และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีผลใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่แล้ว
(๔) ให้จัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนโดยการรวมสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าด้วยกัน และให้บุคลากรของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวคงดำรงตำแหน่งและให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะมีผลใช้บังคับ


ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
มาตรา ๓๑๒  ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับกรณีต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๑ วรรคสอง ที่กำหนดให้ต้องจัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายประจำปี มาใช้บังคับกับการจัดทำงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณที่ถัดจากปีงบประมาณที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๒) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๗ มาใช้บังคับกับการพิจารณาดำเนินการเพื่อแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการพลเรือน หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง จนกว่าจะตรากฎหมายตามมาตรา ๒๐๗ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๑๓  ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
(๑) ให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยตามมาตรา ๒๑๙ วรรคห้า รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการตามมาตรา ๒๒๕ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๒) ให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา ๒๒๒ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๓) ให้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีตามมาตรา ๒๔๑ (๑) และ (๒) ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๓๐๗ ใช้บังคับ
มาตรา ๓๑๔  บรรดาบทกฎหมายใดที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นและคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการตราหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๑๕  บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
   ..........................................


No comments:

Post a Comment