PPD's Official Website

Friday, May 18, 2018

บันทึกเปิดผนึก ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ 8 ปี เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มนปช. 19 พฤษภาคม 2553

บันทึกเปิดผนึก

8 ปี เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มนปช. 19 พฤษภาคม 2553

ในฐานะแกนนำคนหนึ่ง ผมได้แสดงความรู้สึก รำลึก อาลัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาทุกปี เพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยและปกป้องจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของประชาชนผู้ร่วมต่อสู้ ขณะเดียวกันตัวผมและพรรคพวกก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ทุกข้อกล่าวหา ซึ่งทุกคดีอยู่ในชั้นศาล

วาระของการรำลึกมาถึงอีกครั้ง แม้มีคำพูดมากมาย แต่ลึกสุดใจผมมีเรื่องเดียวที่อยากสื่อสารกับสังคมไทย

"ประชาชนถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกยิงในเขตอภัยทาน !!!"

8 ปีแล้วคดีคนตาย 99 ศพยังไม่ถึงศาล ปปช.ยังไม่มีคำอธิบาย ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอใดๆเพื่อให้สังคมได้สัมผัสความโปร่งใสของคดีนี้

จนกระทั่งผมได้รับแจ้งจากผู้รักความเป็นธรรมในสำนักงานปปช.ว่ามติยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ไม่มีรายละเอียดในสำนวนที่เราร้องขอมาตลอด มีเพียงเอกสารข่าว 2 หน้ากระดาษที่ใช้แจกสื่อมวลชน เรื่องนี้ตั้งคำถามผ่านสื่อไปแล้วแต่ทุกอย่างกลับเงียบ ไม่มีแม้แต่เสียงปฏิเสธจากปปช. จนผมหวั่นใจว่าถ้าความจริงเป็นตามข้อมูลที่ได้รับมาแล้วบ้านเมืองนี้จะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร

มีวาทกรรมมากมายอธิบายความชอบธรรมให้การฆ่า เช่น

@มีการเผาบ้านเผาเมืองจึงต้องปราบปรามด้วยความรุนแรง

เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นหลังยุติการชุมนุม ทุกคนถูกฆ่าตายก่อนหน้านั้น และเหตุเพลิงไหม้ทั้งหมดรอบพื้นที่การชุมนุมในกรุงเทพฯศาลมีคำพิพากษายกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาไปทุกรายแล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เรารวบรวมหลักฐานไว้ครบถ้วน และจะได้นำสืบว่าฝ่ายไหนคือผู้ลงมือในการต่อสู้คดีก่อการร้าย

@เหตุที่มีคนตายเพราะเจ้าหน้าที่ต้องจัดการกองกำลังติดอาวุธ

ข้อเท็จจริงประเด็นนี้ไม่ซับซ้อน เพราะประชาชนที่เสียชีวิตไม่มีศพไหนมีอาวุธอยู่กับตัว ที่มือไม่มีคราบเขม่าดินปืน ทุกคนมีตัวตน ไม่ปรากฏว่าใครเคยมีประวัติเป็นอาชญากรหรือมีพฤติการณ์นอกกฎหมายมาก่อน

@ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้กองกำลังฆ่าประชาชนเพื่อใส่ร้ายรัฐบาลขณะนั้น

ต้องอำมหิตแค่ไหนถึงคิดได้แบบนี้ ทุกคนที่ออกมาต่อสู้ผูกพันกันเสมือนญาติ หลายรายที่ตายเพราะเห็นเพื่อนล้มแล้วเข้าไปช่วยจึงถูกยิงตายตามกัน ไม่มีทางที่จะคิดฆ่ากันเอง มีหลายรายที่ศาลไต่สวนสาเหตุการตาย เช่น 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ในคำวินิจฉัยชี้ว่าเสียชีวิตจากปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ ระบุชัดด้วยว่าไม่ปรากฏชายชุดดำยิงตอบโต้ตามที่กล่าวอ้าง

แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังเคยโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อปี 2554 ว่ามีการฆ่ากันเองแล้วเผาศพจนเป็นเถ้าถ่านหน้าวัดปทุมวนาราม อ้างว่าเป็นคดีอยู่ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อผมตามไปตรวจสอบกลับไม่พบหลักฐานแม้กระทั่งบันทึกประจำวันในกรณีดังกล่าว

ผมไม่คิดใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง แต่ไม่เห็นประโยชน์ที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์โดยแกล้งลืมคนตาย จึงอยากสื่อสารกับสังคมและกระตุ้นเตือนปปช.ว่าความยุติธรรมมิได้ก่อขึ้นด้วยเม็ดทราย แต่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ จึงมิอาจปล่อยให้ปลิวหายไปในสายลมและกาลเวลา

คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 อัยการสั่งไม่ฟ้องปปช.จ้างทนายฟ้องเอง พอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง ปปช.ยังอุตส่าห์มีมติอุทธรณ์กรณีพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว แต่คดีกลุ่มนปช.ปี 2553 ปปช.ยกคำร้องและมีท่าทีว่าจะไม่ยกขึ้นพิจารณาใหม่ แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าความผิดคดีฆ่าซึ่งอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองไว้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ปปช.ก็ยังไม่แสดงความพยายามจะทำให้คดีไปถึงศาล

แม้เวลาจะผ่านเลยแล้ว 8 ปี แต่ความเป็นไปของคดีนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อภารกิจของคณะรัฐประหาร เพราะความปรองดองจะเกิดได้อย่างไรในเมื่อคนถูกฆ่าตายเป็นร้อยกลางเมืองหลวงไม่ได้รับความยุติธรรม การปฏิรูปก็ไม่มีทางสำเร็จเพราะกระบวนการยุติธรรมขาดความโปร่งใสจนถูกมองว่า 2 มาตรฐาน และการปราบทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นจริงไม่ได้หากยังมีการคอร์รัปชันความยุติธรรมอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้

ประเทศไทยอยู่ในวังวนขัดแย้งมากว่า 10 ปี จนถึงขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นหลักประกันใดๆที่จะออกจากหลุมดำนี้ได้ เราไม่มีหลักประกันเรื่องการเลือกตั้ง ไม่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่มีหลักประกันว่าความขัดแย้งใหญ่จะไม่กลับมาอีกครั้งภายใต้กติกาและวิถีอำนาจที่เป็นอยู่นี้ และไม่มีหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกปราบปรามโดยอำมหิตหากมีการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันเช่นกันว่าจะกลับคืนสู่สังคมไทยได้ตามที่ประกาศกันไว้

ผมเข้าใจว่าการรำลึกอดีตคือการสรุปบทเรียนเพื่อก้าวไปข้างหน้า แต่สำหรับเหตุการณ์เมษา – พฤษภา 53 กลับเป็นการรำลึกที่จองจำหัวใจคนจำนวนมากเอาไว้ เพราะบทเรียนที่ได้คือการเชือดเฉือน เย้ยหยันคนตายในนามอำนาจแห่งกระบวนการยุติธรรม สภาพเช่นนี้ แม้เราอยากก้าวเดินแต่อนาคตก็มืดมนเกินกว่าแสงแห่งความหวังจะแทรกผ่านมาได้

8 ปีมาแล้ว มีภาพเหตุการณ์ที่ผมลืมไม่ลงมากมาย แต่ความยุติธรรมของคนตายคือเรื่องที่ผมจำได้แม่นยำที่สุด และจะพยายามอย่างที่สุดไม่ให้เรื่องนี้ถูกลบเลือนไป

วันหนึ่ง คดีคนตาย 99 ศพต้องถึงศาลให้ได้

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

18 พฤษภาคม 2561

No comments:

Post a Comment