PPD's Official Website

Saturday, June 4, 2016

บรรยากาศที่ไม่ปกติ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

บรรยากาศที่ไม่ปกติ 
-
บรรยากาศการเมืองทุกวันนี้เป็นบรรยากาศที่หดหู่ เป็นบรรยากาศที่มีความขัดแย้งอยู่ในตัวของมันเอง เหมือนกับรอวันที่จะระเบิดออกมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง เป็นบรรยากาศที่เหมือนกับอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ ทั้งๆ ที่ดูผิวเผินเหมือนกับไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ทุกคนก็มั่นใจว่าจะต้องเกิดเรื่องอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่เรื่องดี

ความผิดปกติของสังคมสะท้อนออกมาจากข่าว การดิ้นรนของผู้คนที่พยายามท้าทายอำนาจรัฐ พยายามดิ้นรนเพื่อใช้สิทธิเสรีภาพของตน ซึ่งสามารถทำได้ในยามปกติ แต่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ทำ ทุกวันศุกร์ก็จะได้ยินการออกมาห้ามประชาชนไม่ให้ทำนั้นทำนี่ ห้ามไม่ให้แม้แต่จะคิดอย่างนั้นอย่างนี้

ในระหว่างสัปดาห์ก็พอจะลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในภาวะผิดปกติ ต้องเข้าใจว่าสภาวการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ไม่ควรจะคิดอะไรมาก แต่เมื่อเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีอำนาจ ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ก็เกิดความรู้สึกแปลกๆ ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ มันเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ

ที่แปลกใจและไม่เข้าใจก็คือ คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนร่ำคนรวย คนที่มีการศึกษา คนที่เคยใช้ชีวิตในสังคมที่เขาเจริญแล้วอย่างอเมริกา ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ไม่ว่าจะเคยใช้ชีวิตเพื่อต้องศึกษาเล่าเรียน ใช้ชีวิตในการฝึกงาน หรือใช้ชีวิตบางช่วงไปทำงานในต่างประเทศ แล้วก็กลับมาประเทศไทย จะสามารถอดทนกับภาวะที่ไม่มีเหตุผลของสังคมไทย ภาวะที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นเสรีชนของคนไทยถูกคุกคามอย่างหนัก ในภาวะที่ถูกขับไล่ให้ไปอยู่ต่างประเทศเสียถ้าหากมีความคิดเห็นที่ต่างไปจากผู้มีอำนาจ มิหนำซ้ำผู้คนที่ว่าเหล่านั้นกลับมีความคิดเป็นเผด็จการทางชนชั้นเสียเอง โดยมีความรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นคนโง่ ไร้การศึกษา ไม่เสียภาษี ควรจะเป็นผู้ถูกปกครองเท่านั้น ไม่ควรจะมีส่วนร่วมในการปกครอง

มีภาษิตทางรัฐศาสตร์ว่า "ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นได้จากการหยิบยื่นให้ ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะต้องได้มาจากการเรียกร้อง" จึงไม่น่าจะแปลกใจว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันอยู่นั้นจะเป็นอย่างไร เพราะการบ้านที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ดูเสมือนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่ จึงเป็นการบ้านที่ยากและเป็นโจทย์ที่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 นี้ เพราะแนวความคิดหรือ concept ของระบอบประชาธิปไตยนิยมกับแนวความคิดของระบอบอำนาจนิยมนั้น เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามและไม่อาจจะประนีประนอมหรือ compromise กันได้เลย

การจะเดินทางไปสู่ประชาธิปไตยนั้นจะต้องไปด้วยวิธีการประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่อาจจะเกิดได้ด้วยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย การสถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ ประชาธิปไตยต้องเป็นทั้งวิธีการและจุดหมายปลายทาง ไม่มีทางที่จุดหมายปลายทางของเผด็จการจะเป็นประชาธิปไตย จุดหมายปลายทางของเผด็จการก็คือเป็นเผด็จการ ประชาธิปไตยในที่ใดก็เกิดขึ้นจากการเรียกร้องและการบังคับเอามาโดยประชาชนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเอาจากเจ้าอาณานิคมหรือจากเผด็จการเจ้าของอำนาจ ดูจะไม่มีข้อยกเว้น

อํานาจหากตกอยู่ในมือของผู้ใดผู้หนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งองค์กรเดียว โดยไม่มีอำนาจอื่นมาคาน เผด็จการย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ มองเตสกิเออ นักปราชญ์ฝรั่งเศสจึงเสนอให้อำนาจรัฐควรแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การแบ่งแยกอำนาจ หรือ separation of power จึงเป็นหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ระบบการปกครองแบบรัฐสภาที่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมิได้แบ่งแยกกันเด็ดขาดนั้น ประชาชนต้องมีส่วนควบคุมรัฐสภาของตนอย่างเข้มแข็งผ่านสื่อมวลชนและการเมืองนอกรัฐสภา มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดเผด็จการโดยรัฐสภาได้ หากรัฐธรรมนูญให้อำนาจพรรคการเมืองในการควบคุมผู้แทนราษฎรในสภามากเกินไป

ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ความมีเหตุผล ความเคารพศักดิ์ศรีของตนเองของประชาชน ที่คิดว่าตนเป็นเจ้าของประเทศหรือเป็นเพียงผู้ที่อาศัยอยู่ ส่วนการเมืองการใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งตามระบอบประชาธิปไตยในยุคสมัยศตวรรษที่ 21 ไม่มีความสำคัญ ปล่อยให้ผู้ที่เข้ามายึดอำนาจรัฐจากประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการไป เช่นนี้เป็นสภาวการณ์ที่ปราศจากทฤษฎีการเมืองรองรับ ที่ตอบคำถามใครๆ รวมทั้งตัวเองไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นสภาวการณ์ที่จะดำรงอยู่ตลอดไปไม่ได้ เป็นสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น

เมื่อเป็นสภาวการณ์ที่ดำรงอยู่อย่างถาวรไม่ได้ ก็มีคำถามว่าแล้วสถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร

ทุกวันนี้ในหมู่ปัญญาชน ในหมู่คนที่มั่นใจการเมือง ในหมู่คนที่ยังครองสติสัมปชัญญะได้ คนที่ไม่ไหลไปตามกระแสที่ถูกเครือข่ายอำนาจรัฐสร้างขึ้น ก็ย่อมมีความกังวลในอนาคตของประเทศ ในอนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไปว่า จะต้องรับภาระความไม่แน่นอน ต้องรับภาระการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่ไม่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม องค์กรใดหรือผู้ใดจะเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของสังคมได้ เพื่อที่จะสนองตอบต่อความคาดหวังของคนรุ่นต่อไป ที่เปลี่ยนจุดสนใจ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยน "คุณค่า" ที่ตนต้องการสร้างขึ้นมาใหม่ แทนวิธีคิดและสิ่งที่เป็น "คุณค่า" หรือ value อันเดิม

ถ้าหากจะนึกถึงคนรุ่นใหม่ที่อายุ 40 ปีลงไป วิธีคิด วิธีปฏิบัติตัว ได้เปลี่ยนไปเป็นอันมาก แม้ว่าจะยังไม่แสดงออก ยังปล่อยให้สังคมถูกครอบงำและดำเนินไปตามคำสั่ง ความคิด และวิถีที่คนรุ่นเก่าวางไว้ ขณะเดียวกันคนรุ่นเก่า รวมทั้งชนชั้นนำและชนชั้นมีอันจะกินที่เคยมีความสุขกับการเป็นคนที่สังกัดอยู่ในอภิสิทธิ์ชน อันมีความสุขอยู่กับคำสรรเสริญเยินยอ ซึ่งมีให้เห็นให้ได้ยินอยู่ในสื่อมวลชนทุกแขนง สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ขณะนี้สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดเพราะยังอยู่ในช่วงใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่เมื่อช่วงเวลาของอารมณ์หมดไป เหตุผลก็จะกลับเข้ามาแทนที่ เมื่อนั้นความขัดแย้งก็จะปรากฏขึ้นอีก ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ภาพที่เศร้าสลดใจของพุทธศาสนิกชนก็คือ ข่าวและภาพการทำลายสำนักธรรมกาย เป็นภาพและข่าวที่พุทธศาสนาสายเถรวาทสายหนึ่งจะชอบหรือไม่ชอบ จะถูกหรือไม่ถูกใจ ก็ควรจะพูดจากันได้ ไม่ควรที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จะออกข่าวเกรียวกราว จะต้องให้พระภิกษุชั้นราชาคณะมารับข้อกล่าวหาถึงสำนักงาน ทั้งๆ ที่อยู่ในอาการอาพาธ หลายกรณีเจ้าพนักงานก็อาจจะไปสอบปากคำที่โรงพยาบาลแล้วก็ให้ประกันตัวได้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นพระภิกษุและไม่มีทีท่าว่าจะหลบหนี ข่าวเรื่องการตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็ดี ข่าวเรื่องการดำเนินการกับเจ้าสำนักวัดพระธรรมกาย เป็นภาพที่สะเทือนใจชาวพุทธทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมหานิกาย ฝ่ายธรรมยุต ซึ่งความจริงไม่น่าจะมีฝ่ายควรจะมีฝ่ายเดียวคือชาวพุทธด้วยกัน รวมทั้งฝ่ายมหายานด้วย

บรรยากาศทุกวันนี้เป็นบรรยากาศไม่ปกติ เป็นเรื่องผิดปกติไปในทางไม่ดี ผิดปกติไปในทางไม่เป็นมงคล ยิ่งมีข่าวลือสะพัดว่าจะมีปฏิวัติซ้อน จะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี บรรยากาศก็ยิ่งตึงเครียด แต่หลายฝ่ายก็ทำเป็นไม่ได้ยิน ไม่มีใครพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจซึ่งกำลังทรุดลงทุกขณะเลย คงจะเห็นว่าสำคัญน้อยกว่าข่าวผิดปกติที่นั่นที่นี่

ทุกวันนี้ก็เลยนั่งคอยฟังว่าจะมีข่าวอกุศลอะไรเกิดขึ้นอีก

Cr. โดย วีรพงษ์ รามางกูร



30FE2044-C85B-44F6-B099-172C9A5D572A

No comments:

Post a Comment